เดลต้า ประเทศไทย จัดงานส่งเสริมความร่วมมือประจำปี 2567 ร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในโครงการเดลต้า ออโตเมชั่น และพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรทั้ง 7 แห่งของไทยในการประชุมโครงการมหาวิทยาลัยเดลต้าประจำปี 2567 ร่วมกับสมาคมมหาวิทยาลัย ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยงานประจำปีนี้มุ่งหวังให้พันธมิตรทุกภาคส่วนได้รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ของโครงการห้องปฏิบัติการเดลต้า ออโตเมชัน (Delta Automation Lab) และห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Delta Power Electronics Lab) ตลอดจนหารือเกี่ยวกับวิธีการยกระดับการฝึกอบรมและการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมความสามารถและการพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่น
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเดลต้า ประเทศไทย ได้กล่าวต้อนรับคณาจารย์และสรุปแผนงานปี 2567 สำหรับโครงการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ว่า “ปีนี้ถือเป็นก้าวใหม่ของการเติบโตสำหรับเดลต้า ประเทศไทย โดยเรามีการขยายการผลิตอุปกรณ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการวิจัยและพัฒนาสำหรับลูกค้าทั่วโลก เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) นอกจากนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า เราจะเปิดตัวการแข่งขันเดลต้า คัพ (Delta Cup) ในประเทศไทยหลังจากประสบความสำเร็จในการร่วมแข่งขันมาหลายปี พร้อมกันนี้เรายังมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายโครงการดังกล่าวไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผมรอคอยที่จะได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาในอนาคตของทั้งโครงการเดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี (Delta Automation Academy) และโครงการห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย”
นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า “เดลต้า ประเทศไทยเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมซึ่งมอบโอกาสพิเศษให้กับชาวไทยที่มีความสามารถด้านวิศวกรรม โดยเราแตกต่างจากผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในประเทศ เนื่องจากแผนกวิจัยและพัฒนาของเรามอบโอกาสและขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้นให้กับวิศวกรในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด นอกจากนี้ในทุกปีเรารับยังนักศึกษาฝึกงานกว่า 100 คนสำหรับการฝึกอบรมที่โรงงานเดลต้าประเทศไทย รวมทั้งเรายังเป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไต้หวัน และได้ทำงานที่โรงงานของเดลต้าในประเทศไต้หวันในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนหรือนักศึกษาฝึกงาน”
ผู้จัดการจากหน่วยงานภาครัฐและกิจการสาธารณะ (GPA) พร้อมทั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (IA) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายสื่อสารองค์กรของเดลต้า ได้นำเสนอข้อมูลอัปเดตล่าสุดและการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรม ธุรกิจ บุคลากรศักยภาพสูง และการสร้างแบรนด์ในประเทศไทย นอกจากนี้ทางคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการเดลต้า และกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
ตั้งแต่ปี 2559 เดลต้าได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร 7 แห่งในประเทศไทย ในโครงการเดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี (Delta Automation Academy) ซึ่งมีบุคลากรศักยภาพสูงในระดับแนวหน้าเข้าร่วมแข่งขันในรายการการแข่งขัน Advance Automation ระดับนานาชาติ หรือเดลต้า คัพ (Delta Cup) ซึ่งในปีนี้เดลต้า ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยพันธมิตรยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการการเปิดตัวการแข่งขันระดับภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติ และโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เพื่อแทนที่การแข่งขันเดลต้า คัพ (Delta Cup) ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศจีน การพัฒนานี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการผลิตในระดับโลก และการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน
ในปี 2565 เดลต้า ประเทศไทย ได้เปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics Lab) แห่งแรก ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่มจพ. ทั้งนี้ในปี 2566 เดลต้ายังได้เปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics Lab) แห่งที่สองที่สจล. ซึ่งบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยพันธมิตร โดยห้องปฏิบัติการเดลต้าพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Delta Power Electronics Labs) มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบห้องปฏิบัติการในการทดลองที่ได้มาตรฐานระดับโลกให้แก่นักศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ของไทยให้สามารถพัฒนาทักษะขั้นสูงได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการวิจัยด้านพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ในท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของเดลต้า
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เดลต้าได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในพื้นที่ เพื่อฝึกอบรมนักศึกษาวิศวกรรมไทยประมาณ 3,000 คนและคณะอาจารย์กว่า 30 คนในโครงการเดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี (Delta Automation Academy) นอกจากนี้เดลต้ายังได้มอบอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกมูลค่า 5.3 ล้านบาท ให้กับห้องปฏิบัติการเดลต้าพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Delta Power Electronics Labs) ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีนักศึกษากว่า 60 คนเข้าร่วมกับห้องปฏิบัติการเดลต้าพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Delta Power Electronics Labs) แห่งแรกที่มจพ. ในปีแรกที่เปิดตัว