ม.พะเยา จัดนิทรรศการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม 2566 เผยแพร่ผลสำเร็จการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน (SDGs)
มหาวิทยาลัยพะเยา โดยกองบริหารงานวิจัย จัดนิทรรศการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม 2566 โดยนางสาวอัญชลี เทียมคีรี ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตเข้าร่วมงาน ณ อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า งานวิจัย เป็นรากฐานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ก้าวหน้า และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน เพื่อพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่าย เกิดเป็นการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม นิทรรศการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม 2566 เป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะเป็นเวทีแสดงผลสำเร็จในการดำเนินงานโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ในรอบปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานและบุคลากรจากหลายภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา จัดนิทรรศการ “โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม” ร่วมกับงานพะเยาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ผลสำเร็จ ของการดำเนินงานโครงการฯ ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และสังคม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ร่วมกันทุกหน่วยงาน ตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ดังปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”
รูปแบบของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดนิทรรศการ การประกวดผลการดำเนินงาน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการฯ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน และมีจำนวนผู้ตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 200 ท่าน ทั้งนี้จะประกาศผลรางวัลในพิธีเปิดการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย ครั้งที่ 13 ในวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณารางวัลจำนวนทั้งสิ้น 10 ท่าน โดยมีรายนามดังนี้
- ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา
- รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- รองศาสตราจารย์ ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี
- รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา มิ่งฉาย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยการเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
- ศาสตราจารย์ ดร.สุทิสา ถาน้อย มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชชา สามพิมพ์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
- คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิ บพท.
- 10.Prof.Dr.Gavin Reynolds จาก มหาวิทยาลัย Sheffield Hallam ประเทศอังกฤษ
กิจกรรมภายในงานวันนี้ มีพิธีเปิดกิจกรรม Section : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ครั้งที่ 1 และพิธีมอบ ป้าย Carbon Credit ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา การบรรยายพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และอุทยานแห่งชาติคาร์บอนต่ำ” โดย ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” โดย Mr.James Andrew Moore ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WAVE BCG Co., Ltd. บรรยายพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” โดย สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการนำเสนอผลงานวิชาการ แบบ Oral Presentation ในรูปแบบ Onsite และ Online