พีไอเอ็ม ชูโมเดลการศึกษา “สร้างงาน สร้างเงิน” เชื่อมเครือข่ายอาชีวะร่วมปั้น
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ตอกย้ำการให้ความสำคัญของการศึกษา จับมือ โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยอาชีวศึกษาเครือข่ายทั่วประเทศ สนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน สร้างความแข็งแกร่งด้านการเรียนการสอน มอบทุนการศึกษา ผลักดันการมีงานทำหลังเรียนจบ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับสายอาชีพในอนาคต ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวมีกิจกรรม “พีไอเอ็มสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายทางการศึกษา” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการศึกษารูปแบบเรียนทฤษฎีควบคู่การฝึกปฏิบัติ Work-based Education และแสดงวิสัยทัศน์ที่การสร้างทรัพยากรบุคคลคุณภาพสู่องค์กรและสังคมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู-อาจารย์แนะแนวโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวะในเครือข่าย
เป้าหมายของกิจกรรมมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนทุกคนได้เข้าถึงโอกาส ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ มีทักษะ สมรรถนะพร้อมสู่การทำงาน เท่าทันโลกและการเปลี่ยนแปลง ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากเครือข่ายทางการศึกษา ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู-อาจารย์ให้เสียงสะท้อนความเชื่อมั่นสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในหลายมิติ
ดร.ไพฑูรย์ สังข์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า “การเรียนการสอนในระบบทวิภาคีนั้นเน้นการสนับสนุนให้นักศึกษามีงานทำ เพิ่มทักษะวิชาชีพและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ช่วยให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งแนวทางการเรียนการสอนตรงกับรูปแบบการเรียนของพีไอเอ็ม ดังนั้นความร่วมมือระหว่างระดับอุดมศึกษากับอาชีวศึกษาจะสามารถส่งเสริมให้กับตัวนักศึกษามีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้กว้างขึ้นจากคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์มากขึ้นจากการฝึกปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น รวมถึงโอกาสในการมีงานทำจากเครือข่ายพันธมิตร ผลจากการได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้นักศึกษามีศักยภาพที่เหมาะสมตอบโจทย์สถานประกอบการ”
ดร.กรณ์พงศ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า “ร่วมมือกับพีไอเอ็มมากกว่า 10 ปี ได้เห็นความเจริญเติบโตของพีไอเอ็มหลายด้าน จึงรู้ว่าพีไอเอ็มคือตัวจริงที่ทำการศึกษาเน้นการเรียนและการปฏิบัติ หรือ Work-based Education ส่งผลให้ผู้เรียนมีทัศนคติดีต่ออาชีพ นอกจากจะได้ความรู้มีสกิลแล้วแต่การได้ลงมือทำงานจริงๆ ก็จะได้ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานตามมา เช่น การรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานร่วมกับผู้อื่น ในระยะยาวมองว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีความแข็งแกร่ง และมีความได้เปรียบด้านการทำงาน อีกทั้งผู้เรียนจะมีโอกาสสำรวจตัวตนก่อนว่าชอบหรือไม่ชอบด้านไหน จะได้ค้นพบตัวเอง หากเจอสิ่งที่ใช่แล้วจะได้ไปตามเส้นทางที่วางแผนไว้ได้ทันที รวมถึงการที่ได้รับโอกาสหรือการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทำให้เด็กกล้าก้าวจากคอมฟอร์ทโซน บางคนกล้าที่จะออกมาเรียนรู้เพิ่มเติมซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในทางที่ถูกต้องรวดเร็วเหมาะสมกับตัวเอง”
ในด้านของครูยุคใหม่ อาจารย์จุฑาทิพย์ แสงเพ็ชร์ อาจารย์แนะแนว วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองว่า “ในฐานะครูอีกหนึ่งคนที่เรียนด้านอาชีวศึกษามาโดยตรง และได้สัมผัสถึงเป้าหมายของนักศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านนี้ก็จะมีเป้าหมายคือการมีงานทำ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ตนเอง หรือบางคนเพื่อต้องการช่วยเหลือครอบครัว และหากมีวุฒิการศึกษาน้อย โอกาสในการมีงานทำก็น้อยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรียังคงมีบทบาทกับสังคมไทย ดังนั้นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนถึงวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งการเติมทักษะ ความสามารถใหม่ๆ องค์ความรู้หรือประสบการณ์ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น นอกจากนี้การได้รับโอกาสที่หลากหลายจะทำให้นักศึกษาได้ค้นพบความชอบ ความถนัดที่แท้จริงอย่างรวดเร็ว และเมื่อผู้เรียนจบออกไป จะมีศักยภาพมากพอสำหรับการทำงานในระดับที่สูงขึ้น”
ขณะเดียวกัน อาจารย์สุพรรณี หมุดคำ หัวหน้าทวิภาคีและครูผู้ประสานงานหลักสูตรทวิภาคี วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสริมว่า “นักศึกษาบางคนต้องการมีความรู้และประสบการณ์เพื่อต่อยอดกับธุรกิจในครอบครัวให้เกิดการขยับขยาย หรือหาแนวทางใหม่เสริมให้ธุรกิจเติบโตขึ้น โดยประยุกต์จากวิชาที่เรียนและการฝึกงานไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน สร้างมูลค่าให้ของธรรมดากลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้เศรษฐกิจและคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทางอาจารย์ก็ให้โปรเจ็กต์แก่นักศึกษานำสินค้าในชุมชนมาสร้างแบรนด์ ทดลองฝากขายที่ร้าน 7- Eleven เพื่อทดสอบความพึงพอใจของลูกค้า ผลที่ได้นำมาสรุปและผนวกเข้ากับการเรียนที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นงานเล็กๆ ที่นักศึกษาได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จำลองการเป็นเจ้าของกิจการ การเรียนลักษณะนี้ทำให้เราได้เห็นภาพจริง ลงมือทำจริง เปลี่ยนแนวคิดเดิมๆ ที่ต้องเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่การทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยนั้นมีโอกาสและความก้าวหน้าไม่ด้อยไปกว่าการเรียนแบบอื่นๆ เลย”
การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยนั้นสามารถสร้างโอกาสมากมายแก่ผู้เรียน ขณะเดียวกันบางคนสามารถอยู่ในระบบการศึกษาสูงสุดแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งบางคนการศึกษาทำให้เปลี่ยนชีวิตไปในทิศทางดีขึ้นและยั่งยืนได้ โดย อาจารย์อุไร อมัติรัตนะ รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศรีสะเกษบริหารธุรกิจ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “เด็กบางคนทางบ้านฐานะไม่ค่อยดีนัก หลังจากเรียนจบ ปวช. แล้วยังไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ทางวิทยาลัยเองก็แนะนำให้เรียนต่อสาขาธุรกิจการค้าสมัยใหม่ที่พีไอเอ็ม เพราะมีทุนการศึกษาให้จำนวนมาก เขาก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ ระหว่างเรียนมีรายได้ เมื่อเรียนจบก็มีงานทำทันที ตรงนี้ช่วยผู้ปกครองแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไปได้มาก ศิษย์เก่าบางคนมักจะกลับมาเยี่ยมเยือนที่วิทยาลัยทุกปี เพื่อแชร์ประสบการณ์แนะแนวทางและส่งต่อโอกาสให้กับรุ่นน้องและผู้ปกครอง ได้รู้จักรูปแบบการเรียนที่วิทยาลัยและการเรียนที่พีไอเอ็ม ได้เรียนรู้ ได้ทักษะ ได้รับโอกาสต่างๆ ตลอดจนได้รับเส้นทางดีๆ แก่ชีวิตมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้สร้างชีวิตเขามั่นคงขึ้น นับว่าพลิกชีวิตจากที่มีน้อยตอนนี้มีมากขึ้น ได้ดูแลพ่อแม่ ชีวิตมีความสุขขึ้นทั้งครอบครัว”
ดร.อดิศร สินประสงค์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม กรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้ายว่า “การที่มีสถาบันอุดมศึกษามองเห็นถึงความสำคัญว่าการศึกษาไม่ใช่แค่ปริญญาแต่คือการสร้างประสบการณ์ โดยการสนับสนุนทุนการศึกษา สนับสนุนประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สอดคล้องไปกับระบบการศึกษาของอาชีวะ ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถที่เพียงพอกับการทำงานให้กับสถานประกอบการได้ ซึ่งสิ่งที่พีไอเอ็มได้ร่วมเข้ามาเติมเต็มคือด้านการพัฒนากระบวนการคิด เสริมในส่วนของทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม การเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการ และที่น่าสนใจคือการส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นนวัตกร ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นโปรเจกต์ ได้ลองได้ฝึกสิ่งใหม่หรือแม้แต่การที่นักศึกษาพีไอเอ็มได้ไปฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษามากๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมเครือข่ายที่เข้มแข็ง ดังนั้นนี่เป็นโอกาสสำหรับน้องๆ สายอาชีวศึกษาที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคต”
พีไอเอ็มสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายทางการศึกษา ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพของผู้บริหารและครู-อาจารย์ ผ่านการบรรยายและการทำ Workshop อาทิ การสัมมนา การรับฟังข้อมูลหลักสูตรพร้อมความรู้อื่นๆ ที่ทันยุคทันสมัย การทดลองปฏิบัติจริงในห้องปฏิบัติการ การเยี่ยมชมสถานที่เรียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำองค์ความรู้บูรณาการกับการเรียนการสอน พัฒนาให้ผู้เรียนมีทั้ง Hard Skills & Soft Skills และสามารถเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นรวมถึงการเลือกประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้พีไอเอ็มพร้อมเสริมพลังกับเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา สู่การสร้างคนให้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน