มทร.ล้านนา เปิดแผนรับนักศึกษา ปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มยอดนักศึกษา 2,000 คน
มทร.ล้านนา เปิดแผนรับนักศึกษา ปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มยอดนักศึกษา 2,000 คน เดินหน้าจับมือกับสถานประกอบการ ร่วมจัดทำหลักสูตร ผลิตบัณฑิตนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ มุ่งเน้นสาขา S-CURVE อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา เปิดเผยว่า มทร.ล้านนา จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มสอง หรือมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ซึ่งแต่ละปีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ สถานประกอบการ มีความต้องการวัยแรงงานที่สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ โดยในปีที่ผ่านมา มทร.ล้านนา จึงได้ทำความร่วมมือกับสถานประกอบการกว่า 20 แห่ง เพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ในกลุ่มสาขา S-CURVE อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
“ในปีนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ ทำให้สถานประกอบการมีการจัดส่งพนักงาน บุคลากรมาเรียนร่วม Upskill Reskill เพื่อให้มีทักษะตรงความต้องการของตลาดแรงงาน 1,200 คน และขณะนี้มีการขยายความร่วมมือกับสถานประกอบการมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการเปิดโอกาสให้แรงงานในโรงงานมาเรียนหลักสูตรวิศวกรรมการเกษตร จำนวน 30 คน ดังนั้น ปี 2566 มทร.ล้านนา มีจำนวนนักศึกษา 15,000 คน และในปี 2567 ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาอีก 2,000 คน เป็น 17,000 คน” รักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าว
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือกับสถานประกอบการในการจัดทำหลักสูตรนั้น จะเน้นในกลุ่มสาขา S-CURVE 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะ New S-curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยมีการเปิดโอกาสให้แรงงานที่จบการศึกษาวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ,หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ,มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเท่าเทียบ ได้มาศึกษาต่อ ให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น และมีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการมากขึ้น ปรับตัวทำงานร่วมกับนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
“จากการดำเนินการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ โดยมีกลุ่มบริษัทในความร่วมมือ เช่น สยามมิชลีน , บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด , บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท กรุงเทพ ไดอ์แคสซ์ติ้ง แอนด์ อินแจ๊กชั่น จำกัด , สมาคมเครื่องตัดไทย บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด , กลุ่ม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีการเรียนรู้สภาพการทำงานในสถานประกอบการ เพิ่มพูนประสบการณ์ หน่วยงานภาคเอกชนได้มีโอกาสพัฒนาบัณทิต และยังเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัย เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ เป็นต้น” รักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวและว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมจำนวนมาก และยังมีการพัฒนางานด้านนี้ต่อ ๆ ไปในอนาคต เพื่อพัฒนาคนให้สอดคล้องความต้องการของตลาด เทคโนโลยี และเพิ่มโอกาศในการมีงานทำของนักศึกษาต่อไป โดยความร่วมมือกับสถานประกอบการนี้ มทร.ล้านนายังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) ในการเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับภาคประกอบการ ทั้งนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมในหลักสูตรต่างๆกับสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะได้รับฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเดิม