ร.ร.คำเขื่อนแก้วฯ ยโสธร คว้าถ้วยพระราชทานโดรนแปรอักษร ด้าน วช.ปลื้มผลงาน Soft Power เล็งหนุนเพิ่ม 500 ลำ

ร.ร.คำเขื่อนแก้วฯ ยโสธร คว้าถ้วยพระราชทานโดรนแปรอักษร ด้าน วช.ปลื้มผลงาน Soft Power เล็งหนุนเพิ่ม 500 ลำ

สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) จัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชิงเงินรางวัลทุนการศึกษา รวม 500,000 บาท โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช., อ.พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ, นายณรงค์ อภิชัย ประธานสายปฏิบัติการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสลิลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย นายบุญโรจน์ กองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองให้การต้อนรับ ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวด้านโดรน และนวัตกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร ที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ กล่าวได้ว่า “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย เป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษรชิงถ้วยพระราชทานฯ ขึ้น

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ตามที่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. ในการจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรน” ให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ นั้น จึงได้มีการจัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะในเชิงปฏิบัติการให้แก่เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการจัดแสดงโดรนแปรอักษรให้มากขึ้น ต้องขอชื่นชมผลงานของทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวดในปีนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจ ที่ทางสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมสร้างสรรค์ ส่งเสริมพัฒนาซอฟท์แวร์ เพื่อให้เป็นนวัตกรรมโดรนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโดรน ถือเป็นเศรฐกิจอันดับ 9 ต่อไปจะเป็นทรัพยากรอันสำคัญของประเทศชาติ จากโจทย์การแปรอักษร ปีหน้า 2567 เราคาดว่าจะเพิ่มสนาม และจำนวนโดรนจาก 300 ลำ เป็น 500 ลำ เพราะมีผลงานโดรนของไทย ที่ไปคว้ารางวัลมาหลายประเทศ อยากจะมาถ่ายทอดการเขียนโปรแกรมโดรน ทั้งเรื่องของดร็อปของ โดรนดับไฟป่า โดรนการเกษตร โดรนทำแผนที่ หรือโดรนค้นหา เป็นต้น

สำหรับการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเวทีให้เยาวชนที่ผ่านการอบรมได้แสดงศักยภาพของตนเอง และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความองค์ความรู้การใช้ software ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอากาศยานโดรนต่อไป ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรมการแข่งขัน 2 ครั้ง คือ 1) รอบคัดเลือก ในวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยการส่งผลงานเข้ามาประกวดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อคัดเลือกให้เหลือผู้ผ่านเข้ารอบการแข่งขันสนามชิงชนะเลิศ จำนวน 50 ทีม และ 2) รอบตัดสินชิงชนะเลิศ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2566 โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 รอบ คือ รอบคัดเลือก รอบ 24 ทีมสุดท้าย และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งมีทีมเข้ารอบทั้งหมด 12 ทีม บรรยากาศภายในงานเนืองแน่นไปด้วย ข้าราชการจากส่วนต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมชมและร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ นอกจากนี้มีการแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเอง อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม การแสดงรวมใจไทยสี่ภาค การแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์อีซอและกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

สำหรับ ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ภายใต้ หัวข้อ “soft power ของประเทศไทย”รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Oasis KC จากโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จ.ยโสธรรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม ลูกเจ้าพ่อไทรเงิน 2 จาก โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมฝูงบินต่ำ RNK2 จากโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล จ.นครพนมรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้แก่ ทีม DoubleIce จาก โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงรายรางวัลชมเชยอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ตะโกราย จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมาและรางวัลชมเชยอันดับ 2 ได้แก่ ทีม คำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จาก โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จ.ยโสธร

ทั้งนี้ จะมีการจัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพทักษะการเขียนโปรแกรมบังคับและควบคุมโดรน (Drone) ประยุกต์สู่การใช้งาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต โดยสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ