รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย คว้ารางวัลออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ จากโครงการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้ง นิวซีแลนด์-เอเชียเทค 2023
นักเรียนจากรร.สวนกุหลาบวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศการเขียนโปรแกรมโค้ดดิ้งและการสร้างเว็บไซต์ จากการแข่งขันในโครงการค่ายพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งนิวซีแลนด์-เอเชียเทค ประจำปี 2023 (2023 #NZASIATECH CODE CAMP) จากทั้งหมด 6 ประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand; ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการแคมป์พัฒนาทักษะโค้ดดิ้ง นิวซีแลนด์-เอเชียเทค ประจำปี 2023 (2023 #NZASIATECH CODE CAMP จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือของ ENZ ร่วมกับ Code Avengers ซึ่งเป็นเป็นบริษัทเทคโนโลยีการศึกษาออนไลน์ระดับโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อสร้างเวทีให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้มีส่วนในการเข้าร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแบบแผน การพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ผ่านประสบการณ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการทำงานร่วมกับนักเรียนต่างชาติผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายสอนโค้ดดิ้งในรูปแบบออนไลน์ ฝึกฝนการสร้างทีมเวิร์ค การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมโค้ดดิ้ง และประกวดการสร้างเว็บไซต์ ร่วมกับนักเรียนมัธยมศึกษาจากประเทศนิวซีแลนด์ และอีก 6 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และไทย
การประกวดสร้างเว็บไซต์ในปี 2023 นี้ เป็นการพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติลำดับที่ 13: การดำเนินการด้านสภาพอากาศ” (United Nations Sustainable Development Goal 13) นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ NZASIATECH CODE CAMP ต้องสร้างเว็บไซต์เพื่อส่งเสริมการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบในประเทศของตน ซึ่งน้องๆ จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง และได้รับมอบใบประกาศเกียรติคุณจาก ฯพณฯ นายโจนาธาน คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ได้แก่ ด.ช.อภิชพัฒน์ เต็มบุญศรัณย์ (พีค) ม.2 , ด.ช.นับวัน แสงศิริ (นาซ่า) ม.2 , ด.ช.ธรรศ บรรเทิงจิตต์ (ธรรศ) ม.3, ด.ช. ศุภฤกษ์ เสรีสันติวงศ์ (ซัน) ม.3 และด.ช.ชยธร เจริญรัตน์วุฒิกาล (ไอค์) ม.3
น้องๆ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ได้รับประสบการณ์ต่างๆมากมาย รวมทั้งได้พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ และมิตรภาพกับเพื่อนๆ นักเรียนต่างชาติอีกด้วย ซึ่งในการนำเสนอการสร้างเว็บไซต์ SDG (Sustainable Development Goals) Goal ที่ 13: Climate Action น้องๆ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย ใน 3 ด้านหลักๆ คือ พลังงานทางเลือก การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และการจัดการขยะและของเสีย โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย ทีม UX/UI ทำหน้าที่ออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลของเว็บไซต์ และ ทีม developers ทำหน้าที่เขียนโค้ดของเว็บไซต์ มีการสร้างตารางเวลาเพื่อจัดระเบียบการทำงาน การเตรียมตัวเขียนบทและฝึกซ้อมร่วมกันก่อนการแข่งขัน ทำให้ได้ฝึกการเรียนรู้วิธีการนำเสนอให้สั้นกระชับและได้ใจความ และมีการนำพร็อปต่างๆ มาใช้ระหว่างการนำเสนอ ประกอบไปกับการที่เว็บไซต์ของทีมเรามีความสวยงามและรูปแบบเนื้อหาที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงปัญหาโลกร้อนและมีการนำเสนอความคิดริเริ่มต่างๆที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมคำนึงถึงการจัดการกับปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย ส่งผลให้เราได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้
“พวกเรารู้สึกยินดีอย่างยิ่ง พวกเราทุกคนได้พยายามเป็นอย่างมากเพื่อให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับการจัดการปัญหาโลกร้อน และได้ใช้ความสามารถของพวกเราอย่างถึงที่สุด พวกเราจึงภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ การที่พวกเรามาได้ถึงขนาดนี้มาจากความพยายาม ความสามัคคีและการจัดการวางแผนที่ดีในทีมของเรา หากขาดสิ่งเหล่านี้ทีมของพวกเราก็คงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ และเราก็อยากขอบคุณ คุณครูทุกๆ คนที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเรา และ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบโอกาสนี้ให้พวกเราครับ”ด.ช.ธรรศ บรรเทิงจิตต์ (ธรรศ) กล่าว
น้องๆ ยังเล่าอีกว่า จากการทำงานร่วมกัน นอกจากจะได้ประสบการณ์การออกแบบ UX/UI เว็บไซต์โดยการทำความเข้าใจว่าผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ควรจะได้รับข้อมูลแบบใด ตามลำดับใด ยังทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการจัดการงาน การบริหารหน้าที่ในแต่ละส่วน อย่างเช่น การจัดการ การทำงานระหว่างตัวแอปที่ดีไซน์ไว้จากทีม UX/UI กับทีม developer การสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน หรือการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับครูอาจารย์ การเข้าแข่งขันครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ฝึกการสื่อสารของแต่ละคนด้วย