สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สถาบันการบินพลเรือน อบรมการถ่ายภาพมุมสูงด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในงาน CAAT Aviation Camp
สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จัดอบรมการถ่ายภาพมุมสูงด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในงาน CAAT Aviation Camp “Drone : Now and Future” ณ ห้องออดิทอเรียม สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้พัฒนาไปเป็นบุคลากรด้านการบินในอนาคต โดยมีครู อาจารย์และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 -5 จากโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่จัดงาน หน่วยงานพันธมิตรและภาคีเครือข่ายในอุตสาหกรรมโดรน คณะผู้บริหาร CAAT และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรม
อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวถึงคอร์สระยะสั้นเรื่องการอบรมถ่ายภาพมุมสูงด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ว่า “โครงการหนูน้อยจ้าวเวหาไทยพีบีเอส เราปลูกฝังเรื่องโดรนมาตั้งแต่ปี 2554 จนมาถึงปัจุบันจัดเป็นโครงการที่มีการจัดสอนและมีการจัดการแข่งขันโดรน เรามองจากตัวอย่างนักศึกษาที่เกิดจากโครงการนี้ก็ได้ครับ ที่ปัจจุบันสามารถนำโดรน ไปแข่งขันยังต่างประเทศ และนำเหรียญเงิน เหรียญทอง กลับมาประเทศไทย จากแนวความคิดของเขาที่จะไปถึงนอกโลก แต่สิ่งเหล่านี้จะไปได้แค่ไหนนั้น เราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศแล้วว่าสามารถที่จะเป็นไปได้ แค่มีเงินแล้วให้เด็กไปนั่ง แล้วออกไปนอกอวกาศได้ ผมว่าเขากลับมา เขาจะมีจินตนาการ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่านำพาสู่ความก้าวหน้า สู่อนาคตของเยาวชน และสู่การที่คนไทยจะไปนอกโลกกับเขาได้บ้าง”
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เผยว่า “เราให้ความสำคัญให้เด็ก ๆ เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และตื่นตัวในเรื่องโดรนที่เข้ามา และเปิดโลกทัศน์ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของเราว่า โดรนเกี่ยวข้องอะไรกับเขาบ้าง และยังสร้างแรงจูงใจให้ยึกเอาเรื่องของโดรนเป็นอาชีพในอนาคตได้”
นายเจษฎา บุญรอด นักเรียนจากโรงเรียนวังจันทร์วิทยา จ.ระยอง กล่าวว่า “ตนเคยเล่นแต่รถบังคับ แต่พอได้มาอบรมการใช้โดรนแล้วรู้สึกอิสระมาก เรียนตั้งแต่วิธีการถ่าย ไปจนมาถึงบินไปตามเส้น ตนคิดว่าอบรมเสร็จ ก็สามารถทำหนังได้เรื่องหนึ่งจากการอบรมโดรนครั้งนี้เลยทีเดียว”
รายการต่อไปที่ทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส จัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2566 ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ในการนี้ทางสมาคมฯใคร่ขอเชิญชวนผู้ที่ผ่านการอบรมจากทั่วทุกภูมิภาค เข้ารวมการแข่งขันประกวดผลงานในครั้งนี้ เงินรางวัลทุนการศึกษา รวม 500,000 บาท รับจำนวนจำกัด 100 ทีม (ทีมละ 3 คน) เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 (ขอสงวนสิทธิ์ปิดรับสมัครหากผู้สมัครครบเต็มจำนวนก่อนกำหนด) สมัครได้ที่นี่ http://www.rcsayoungpilot.com/2023/11/blog-post_23.html?fbclid=IwAR1ldpMo1XyaEhCAkBl5HJkfFGOpRGTORsjj5OEn3hj-tedDkJANV-nxkqs