ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี จัดเต็มเวิร์กชอป โครงการ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสุดสนุกให้ 20 ทีมสุดท้ายนำไปใช้จริงในโรงเรียน
จากปัญหาการกลั่นแกล้ง หรือ การบูลลี่ ในโรงเรียนของเด็กไทยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงเป็นที่มาให้โครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” มุ่งจุดประกายส่งเสริมให้เยาวชนไทยเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการจัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ ผ่านการใช้สื่อหรือกิจกรรมต่าง ๆ
ล่าสุด ได้มีการคัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อย แบ่งเป็นมัธยมต้น 10 ทีม และมัธยมปลาย 10 ทีมจากทั่วประเทศ และก่อนที่ทั้ง 20 ทีมจะเข้าสู่การตัดสินรอบชิงชนะเลิศ ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี จึงได้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปสุดพิเศษ จากกรมสุขภาพจิต และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่างคุณแพรรี่ ไพรวัลย์ ที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบจัดเต็มตลอดทั้งวัน เพื่อเตรียมความพร้อมและจุดประกายความคิดให้เด็ก ๆ
สำหรับเนื้อหาในกิจกรรมเวิร์กชอปมุ่งเน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ การสื่อสาร และการทำสื่อให้มีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการบูลลี่
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ และ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบูลลี่ร่วมกันว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะนิยามการกระทำใดว่าเป็นการบูลลี่ ต้องดูจากเจตนาและความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งในหมู่เพื่อนอาจมีการหยอกล้อกันจนกระทบต่อความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้อาจสะสมกลายเป็นรากฐานนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต เห็นได้จากสถิติการก่อความรุนแรงในต่างประเทศของเด็กอายุต่ำกว่า 15 – 18 ปี ที่มักก่อเหตุในโรงเรียนสูงถึงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุมักเกิดจากปัญหาการบูลลี่เกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ ดร.นพ.วรตม์ และ พญ.วิมลรัตน์ ยังฝากคำแนะนำในการทำสื่อให้น้อง ๆ ในโครงการไว้ 3 ข้อ ด้วยกัน คือ 1. ต้องดูจริง และใช้ได้จริง เพื่อสร้าง Impact ให้กลุ่มเป้าหมาย2. ต้องแตกต่าง หลุดจากกรอบเดิม ๆ 3. ให้ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดหรือค่านิยม ให้รู้จักการยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
วิธีการรับมือเมื่อต้องเจอปัญหาบูลลี่
คุณแพรรี่ หรือ ไพรวัลย์ วรรณบุตร อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ได้ร่วมเล่าถึงวิธีจัดการปัญหาในฐานะคนที่เผชิญกับการบูลลี่ในสังคมว่า การอดทนหรือนิ่งเงียบเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา อาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมเสมอไป แต่ต้องรู้จักตอบโต้อย่างมีสติและไม่กลัวที่จะปกป้องตัวเองจากการโดนกระทำ เช่น การพูดออกไปตรง ๆ ว่าไม่ชอบอะไรหรือรู้สึกอย่างไร รวมทั้งการฝึกจิตใจให้เข้มแข็งและเห็นคุณค่าของตัวเอง เพื่อเป็นเหมือนเกราะป้องกันตนเองจากคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดีต่าง ๆ ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนในการต่อต้านการบูลลี่ในสังคมได้ โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากในโรงเรียน
รณรงค์เข้าตา สื่อสารเข้าใจ
รศ.ดร.กันย์พัชญ์ กะลัมพะเหติ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า การทำแผนรณรงค์ในระยะเวลาจำกัด จำเป็นต้องเลือกสื่อสารเฉพาะเรื่องให้ตรงจุด ควบคู่ไปกับการเลือกสื่อที่หลากหลายและมีกลยุทธ์ รวมทั้งการวางแผนทำโครงการอย่างเป็นระบบ โดยกลยุทธ์การสื่อสารสำหรับการรณรงค์คือ 1. สร้างความตระหนัก 2.แนะนำแนวปฏิบัติ 3. โน้มน้าวใจ ซึ่งการโน้มน้าวใจ สามารถทำได้ทั้งแนวทางเชิงลบและเชิงบวก โดยแนวทางเชิงลบจะเป็นการใช้ความกลัวในการโน้มน้าว เช่น นำเสนอผลลัพธ์ที่น่ากลัวที่เกิดจากการบูลลี่เพื่อน และการใช้คนตักเตือน ส่วนแนวทางเชิงบวกจะเน้นไปในทิศทางให้กำลังใจ นำเสนอภาพพฤติกรรมที่ดี ใช้การสื่อสารที่เข้าใจง่าย ใกล้ตัว และเลือกใช้ข้อความที่จดจำได้ง่าย
วิธีสร้างความแตกต่างให้ผลงาน
คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา ผู้กำกับและผลิตหนังโฆษณามืออาชีพ ได้แนะนำเคล็ดลับสร้างสื่อไว้ว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้เมื่อทำสื่อ คือ ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการนำเสนอเรื่องอะไร มีกลุ่มเป้าหมายคือใคร และจะนำเสนอที่ไหน ด้วยรูปแบบการสื่อสารใด จากนั้นลงรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงการหาเทคนิคที่จะใช้ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ สามารถดูตัวอย่างได้จากงานครีเอทีฟของต่างประเทศ หรือใช้สิ่งของรอบตัวในโรงเรียน อย่างการใช้คำคมในการรณรงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนที่คนอาจคาดไม่ถึง เช่น บนถนนหน้าโรงเรียน โต๊ะเรียน เสาธงชาติ สนามหญ้า หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในโรงเรียน เช่น การจัดทอล์กโชว์ การประกวดเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 บาทต่อโครงงาน เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงในโรงเรียนเป็นระยะเวลา 3 เดือน และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินอีกครั้ง โดยทีมผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา พร้อมนำผลงานที่ชนะเลิศออกเผยแพร่ นำไปต่อยอดปรับใช้เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและสังคมต่อไป
ติดตามกิจกรรมดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbfoundation.org