คนไทยทำได้ “สุดขอบฟ้า” ตู้โดยสารรถไฟระดับพรีเมียมตู้แรกที่ผลิตจากฝีมือคนไทยและนักวิจัยไทย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรชั้นนำของประเทศ ในโครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายในการผลิตตู้โดยสารรถไฟ ที่มีการออกแบบและผลิตขึ้นภายในประเทศ ให้มีความทันสมัย สะดวก สบาย พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับการใช้งานของผู้โดยสาร ทั้งนี้โครงสร้างตัวตู้โดยสาร ทางเดิน บันได ที่นั่ง ความสูง ฯลฯ เป็นไปตามมาตรฐานของ รฟท.
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สจล. เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ วิชาการ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก “The World Master of Innovation” ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างนักวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง นำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับประเทศมากมาย และ สจล. พร้อมที่จะพัฒนาสนับสนุนแนวคิดให้พื้นที่สำหรับนักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาอยู่เสมอ รวมทั้งการจัดทำโครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” นี้ด้วย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัย ของ สจล. และหน่วยงานพันธมิตรที่มีความสามารถขับเคลื่อนจนเป็นผลสำเร็จ
รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” กล่าวว่าการนำตู้โดยสารมาทดลองวิ่งเสมือนจริงนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น นับว่าเป็นเครื่องการันตรีถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตู้โดยสารรถไฟตู้นี้มีชื่อว่า “สุดขอบฟ้า” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับบริษัทไซโนเจนปิ่นเพชรจำกัด และยังได้รับการอนุเคราะห์ความร่วมมือในการให้คำปรึกษาและทดสอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเฉพาะฝ่ายการช่างกล
ซึ่งได้ดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนามากว่า 2 ปี เป็นการออกแบบและผลิตขึ้นภายในประเทศ กว่า 40% เพื่อเป็นต้นแบบ และลดงบประมาณในการนำเข้า ยกระดับการบริการ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนกวิจัย ผู้พัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศ โดยในตู้โดยสารมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบหน้าจอ Touchscreen ที่สามารถเข้าใช้ระบบ Infotainment เช่น Youtube, Netflix นอกจากนี้ยังสามารถดูอุณหภูมิภายนอกรถ ค่าฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงข้อมูลตำแหน่งการเดินทาง มีระบบฆ่าเชื้ออัตโนมัติ เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิภายในตัวรถ มีระบบรักษาความปลอดภัย และสามารถใช้สัญญาณ 5G ได้ โดยโครงสร้างตู้โดยสาร ทางเดิน บันได ฯลฯ เป็นไปตามมาตรฐานของ รฟท. ออกแบบให้มีทั้งหมด 25 ที่นั้ง ประกอบด้วย Super Luxury Class 8 ที่นั่ง และ Luxury Class 17 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังทำให้ทางโครงการวิจัยได้ค้นพบผู้ประกอบการในประเทศที่ผลิตชิ้นส่วนที่มีประสิทธิเหมาะสมกับการนำมาใช้ในตู้โดยสารมากกว่า 10 ราย เช่นบริษัทที่ผลิตเกี่ยวกับวัสดุในการทำที่นั่ง เบาะ กระจก สีภายนอก ม่าน อุปกรณ์ให้แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ สุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ในตัวรถจากการประเมินราคาหากเราผลิตตู้โดยสารรถไฟระดับนี้เองภายในประเทศจะสามารถลต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 30% ต่อตู้โดยสาร และที่สำคัญที่ได้จากการดำเนินโครงการวิจัยคือ เราสามารถสร้างนักวิจัยที่เกี่ยวข้องได้มากกว่า 30 คน จากการร่วมมือกันของ สจล. และ สวทช. ทำให้ผ่านการทดสอบ ตรวจสอบทุกระบบ ทุกขั้นตอน และผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวได้เป็นผลสำเร็จ รวมทั้งสามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้ถึง 7 ผลงาน
รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้แทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า งานวิจัยนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจากห้องปฏบัติการสู่การทดลองใช้งานจริงสามารถตอบความพร้อมของเทคโนโลยีได้ถึงระดับ TRL 8 และมีโอกาสก้าวเข้าสู่การต่อยอดสู่ระดับการเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้จริงหรือ TRL 9 โครงการนี้ทำให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยที่มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งรวมถึงผู้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์คือ รฟท. ก็มีส่วนร่วมผลักดันจนทำให้ผ่านการทดสอบต่างๆ นับว่าเป็นโครงการตัวอย่างที่น่าชื่นชมในความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สจล. เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางราง ด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า ร่วมมือกันคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อน เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้วัสดุในประเทศ ส่งเสริมให้มีรูปแบบการบริการใหม่แก่ประชาชน
ถือได้ว่าโครงการวิจัยดังกล่าว สร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของการรถไฟฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยสามารถผลิตตู้รถไฟโดยสารต้นแบบได้สำเร็จ สามารถใช้งานได้จริง ช่วยสนับสนุนการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานและนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นผลักดันการใช้ “นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ในระบบคมนาคมขนส่ง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง Email: [email protected] ติดตามข่าวสาร สจล. ได้ที่ www.kmitl.ac.th, Facebook: KMITL Official