ตามไปดูห้องเรียนจำลองคณิตศาสตร์ประยุกต์ นิวซีแลนด์ ฝึกคิด-ฝึกทำ-มีส่วนร่วม เปลี่ยนเรื่องน่าเบื่อเป็นเรื่องน่าเรียน
“คณิตศาสตร์มีแต่ตัวเลขน่าเบื่อไม่อยากเรียน” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่จะหาเทคนิคการเรียนการสอนคณิตศาสตร์อย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ? เพื่อสร้างแรงจูงใจให้น้องๆมุ่งมั่นอยากจะเรียนวิชาคณิตศาสตร์กันมากขึ้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์จากประเทศนิวซีแลนด์ โดยอาจารย์เคิร์สตี้ บลันเดลล์ (Ms. Kirsty Blundell) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์และสถิติ โรงเรียนเอวอนเดล คอนเลจ (Avondale College) โรงเรียนมัธยมสหศึกษาของรัฐที่มีชื่อเสียงของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นครูผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มีเทคนิคการสื่อสารที่ดีเยี่ยมและการสร้างแรงจูงใจให้เด็กมีส่วนร่วม มีความรอบรู้ในการใช้กลยุทธ์การสอนที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้เรียน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการศึกษาคณิตศาสตร์
ตามไปดูอาจารย์เคิร์สตี้ บลันเดลล์ (Ms. Kirsty Blundell) ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เทคนิคการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เปลี่ยนเรื่องน่าเบื่อให้เป็นเรื่องน่าเรียนได้อย่างไร โดยยกห้องเรียนจำลองการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์แบบนิวซีแลนด์ มาให้น้องๆนักเรียนไทยได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับการจำลองห้องเรียนนิวซีแลนด์ วิชาคณิตศาสตร์เรื่องรูปเรขาคณิตสามมิติ ในหัวข้อ ‘Surface Area of 3D Shapes’ ให้น้องๆนักเรียนไทยได้ร่วมพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย รวมถึงการทำงานเป็นกลุ่ม การฝึกคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างโมเดลตึกจำลอง แบบ 3 มิติ โดยมีการนำเสนอผ่านสื่อเทคโนโลยีแบบมีปฎิสัมพันธ์ Mentimeter ซึ่งกิจกรรมห้องเรียนจำลองนิวซีแลนด์นี้ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand; ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของนิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันจัดขึ้นภายในงานการศึกษานิวซีแลนด์ และกิจกรรม “ห้องเรียนจำลองแบบนิวซีแลนด์สัญจร” ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และชลบุรี เมื่อเร็วๆนี้
อาจารย์เคิร์สตี้ บลันเดลล์ (Ms. Kirsty Blundell) เปิดเผยว่า กิจกรรมห้องเรียนจำลองสัญจรที่นำมาให้กับน้องๆนักเรียนไทยในครั้งนี้ เป็นการสอนวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์โดยใช้ 3D มาใช้กับตึกโมเดลจำลองที่เป็นสถาปัตยกรรมของไทย ซึ่งเป็นการนำเรื่องใกล้ตัวมาสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ และให้นักเรียนได้ฝึกคิดฝึกลงมือทำด้วยตนเอง โดยแนวคิดของบทเรียนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปทรง 3 มิติในโลกแห่งความเป็นจริง นักเรียนจะสำรวจรูปร่างอาคารที่พวกเขาเห็นในชีวิตประจำวัน และจะระบุรูปแบบโครงสร้างเครือข่ายที่ใช้สร้างรูปร่างเหล่านี้ และให้นักเรียนได้ลองสร้างขึ้นเอง พวกเขาจะสามารถคำนวณพื้นผิวของรูปร่างได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จะเป็นประโยชน์ในงานต่างๆ เช่น สถาปัตยกรรม และการออกแบบโครงสร้างต่างๆ
“จากกิจกรรมห้องเรียนจำลองครั้งนี้ พบว่านักเรียนไทยมีความตั้งใจและมีส่วนร่วมในบทเรียนคณิตศาสตร์ประยุกต์เป็นอย่างมาก พวกเขามีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับรูปร่างต่างๆ และวิธีการคำนวณพื้นที่ของรูปร่าง 2 มิติ ซึ่งจะช่วยพวกเขาในการคำนวณพื้นที่ผิวของรูปทรง 3 มิติ นักเรียนสามารถวิเคราะห์แนวคิดใหม่ๆได้ดี และจบบทเรียนด้วยการออกแบบอาคารที่สร้างสรรค์ได้ดีทีเดียว” อาจารย์เคิร์สตี้ บลันเดลล์ (Ms. Kirsty Blundell) กล่าวและเสริมว่า
ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ เป็นระบบเอื้อต่อการค้นหาความสามารถที่แท้จริงของเด็ก และสามารถเรียนได้ตามความสนใจของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ กล้าคิด กล้าทำ มีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพ และทักษะการใช้ชีวิตไปพร้อมกัน ซึ่งการที่น้องๆได้เลือกเรียนวิชาที่ตนชอบและถนัด จะทำให้น้องๆมีความสนใจมุ่งมั่นและมีความสุขที่อยากจะเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เชื่อว่าหากทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตจริง มีความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน และเข้าถึงได้สำหรับนักเรียน จะสามารถจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นและความหลงใหลในวิชานี้ให้กับนักเรียนได้ โดยอาจารย์เคิร์สตี้ บลันเดลล์ ได้แบ่งปันเทคนิคการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ดังนี้
- การสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาสำหรับนักเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนอยากจะเรียนมากยิ่งขึ้น
- ทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตจริง มีความเกี่ยวข้อง และเข้าถึงได้สำหรับนักเรียน เช่นการนำตัวอย่างที่เห็นในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้สามารถจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นและชื่นชอบในวิชานี้ให้กับนักเรียนได้
- มีวิธีการเรียนการสอนอย่างบูรณาการเกี่ยวข้องกับตัวอย่างในชีวิตจริง สร้างกิจกรรมเชิงโต้ตอบ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวคิดการเรียนการสอนทางคณิตศาสตร์
- การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมีส่วนร่วม การสร้างกิจกรรมที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม การมีกิจกรรมภาคปฏิบัติในวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์สามารถช่วยให้นักเรียนเห็นว่าทักษะต่างๆ มีประโยชน์อย่างไร การใช้บริบทกับสถานการณ์ที่นักเรียนสามารถเกี่ยวข้องได้จะช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมกับหัวข้อมากขึ้น
- การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆจะสามารถช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากจะมีส่วนร่วมกับบทเรียนได้ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือดิจิทัลมากมายให้เลือกใช้งาน
- ครูและนักเรียนควรเตรียมตัวก่อนชั้นเรียนและระหว่างชั้นเรียน ว่า เราควรใช้เทคนิคใดเพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
- ครูควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมและการวางแผนล่วงหน้าสำหรับให้ความรู้ที่ต้องการอย่างกระจ่างชัดและการป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดที่จะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studywithnewzealand.govt.nz