ปรับพื้นที่ดี เพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดเวลาหน้าจอ
ปัจจุบันพบว่า เด็กปฐมวัยมีความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก หรือเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เพิ่มมากขึ้น เกิดจากวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กถูกปล่อยให้ใช้เวลาอยู่กับเล่นแท็บเล็ตหรือมือถือมากจนเกินไป ส่งผลให้เด็ก”ขาดการกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง ส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติทางการสื่อสารและพัฒนาการทางด้านสังคม แต่พฤติกรรมออทิสติกเทียมสามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเท่าทันและใส่ใจดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็ก อบต.ขั้นไดใหญ่ จังหวัดยโสธร ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) บูรณาการในการจัดภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นพื้นที่เล่นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่มีพฤติกรรมออทิสติกเทียมร่วมกับครัวครอบ ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ดีขึ้น
เด็กในช่วงปฐมวัย (แรกเกิดถึงอายุ 4 ปี) พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องคอยสังเกตพัฒนาการทางภาษาว่าเป็นไปตามช่วงวัยหรือไม่
ช่วงอายุ 1 ขวบ เด็กในช่วงวัยนี้ควรพูดเป็นคำ ๆ ได้ เช่น พ่อ แม่ ป๋า ม๊า หม่ำ สามารถเลียนแบบเสียงได้ มีการหันหาเสียงเรียก จดจำเสียงของคนเลี้ยงได้ มีโต้ตอบ เข้าใจความหมายง่ายๆ เช่น บน ล่าง ข้างๆ
เด็กอายุ 2 ขวบ สามารถสื่อสารได้มากขึ้น สามารถใช้คำที่แตกต่างได้ถึง 50 คำ เช่นคำว่า กิน ตายาย น้ำ ข้าว เป็นต้น สามารถพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ เช่น ไปเที่ยว กินนม หรือใช้คำสรรพนามเรียนแทนได้ เช่น เขา หนู ฉัน รู้จักจดจำและแยกแยะอวัยวะในร่างกายได้ รู้ว่าส่วนไหน คือ ตา หู จมูก เป็นต้น
ช่วงอายุ 3 ขวบ สามารถพูดประโยคสั้น 3-4 คำได้ และเลือกใช้คำสำคัญๆ ที่จะสื่อ รู้จักเลือกใช้คำ มีคำศัพท์ในหัวมากขึ้น เข้าใจและสามารถตอบโต้ได้ดี
ช่วงอายุ 4 ขวบ ถือว่าเป็นเด็กที่โต พัฒนาการด้านภาษาควรพร้อมที่จะเรียนรู้และสื่อสารกับผู้อื่นได้ สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ และชัดเจน จำแนกสี รูปร่าง ตัวอักษรได้ บอกเวลาเช้า กลางวัน และเย็นได้ เข้าใจประโยคคำสั่ง ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ทำตามขั้นตอนได้ และสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เช่น หนูอยากออกไปเล่นกับเพื่อน หนูปวดฉี่อยากไปห้องน้ำ เป็นต้น
นางสาวสิริภัทร วงศ์ษาสน หรือ ครูป๊อป ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ศูนย์พัฒนาเด็ก อบต.ขั้นไดใหญ่ จังหวัดยโสธร ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เปลี่ยนพื้นที่ลานตากข้าวในวัดคำฮี ต.ขั้นไดใหญ่ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร ให้เป็นพื้นที่เล่นได้ (Floor play) หรือ “การเล่นโดยใช้พื้น” โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่เล่นได้ให้กับเด็ก ทำให้เด็กปฐมวัยได้ออกห่างจากมือถือ แล้วกลับออกมามีกิจกรรมทางกาย ได้ออกมาเล่นกับเพื่อน ได้เล่นอย่างปลอดภัยและอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ การออกแบบพื้นที่เล่นสามารถทำให้สอดคล้องกับพัฒนาการสมองของเด็กแต่ละช่วงวัยได้ พื้นที่เล่นได้ (Floor play) จะช่วยให้เด็กได้ฝึกสมาธิ ฝึกกล้ามเนื้อขาและข้อเท้าจากการกระโดด พัฒนาทักษะการออกเสียงพยัญชนะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การนับเลข เป็นต้น เด็กได้เรียนรู้การกำหนดวิธีการเล่นและเป้าหมายของการเล่นด้วยตัวเอง มีกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันแบบง่ายๆ ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และผู้อื่นมากขึ้น เรียนรู้การเคารพกฎกติกา การแบ่งปัน รู้แพ้รู้ชนะ การให้อภัย
เมื่อเด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าลูก หรือ มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก หรือ “ออทิสติกเทียม” ทุกคนในครอบครัวต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องไม่ใช้หรือเล่นมือถือตลอดเวลาที่อยู่กับเด็ก ชวนลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น การอ่านนิทาน เล่นบทบาทสมมุติ วิ่งเล่น อื่นๆ หรือถ้าไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก ลองชวนลูกออกแบบและทำพื้นที่เล่นได้ (Floor play) ไว้ในบริเวณในบ้าน ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เด็กได้เล่น ได้เรียนรู้ ได้มีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย หากิจกรรมทำร่วมกันครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ การปรับพฤติกรรมลูกที่ติดมือถือ ผู้ปกครองต้องใช้วิธีการสร้างวินัยให้กับลูก เช่น การทำข้อตกลงกับลูกให้ชัดเจน เมื่อกลับจากโรงเรียนให้ทำการบ้าน ทานข้าว และอาบน้ำให้เสร็จเรียบร้อย จึงจะเล่นมือถือได้ 30 – 60 นาที (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับตกลงกัน) เป็นการจำกัดชั่วโมงในการเล่นให้กับลูก ผู้ปกครองสามารถเล่นมือถือกับลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือดูยูทูปกับลูก เพื่อคอยให้คำแนะนำในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจได้อย่างถูกต้อง
เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุดของพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พัฒนาการที่ดีในช่วงวัยนี้จะเป็นพื้นฐานต่อความสำเร็จในการดำเนินชีวิตในอนาคต พัฒนาการทางด้านสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ในการปรับตัวและพร้อมที่จะอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
ที่มา: wearehappy