พัฒนาการเด็กปฐมวัยผ่านการเรียนรู้จากแปลงผัก นิเวศสื่อสุขภาวะใกล้ๆตัว
การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นนิเวศสื่อสุขภาวะ ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ โดยพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น จะเอื้อให้เด็กเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ การสัมผัส การสังเกต กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง เป็นพื้นที่ที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ
พื้นที่ดี หมายถึง พื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เช่น ใต้ต้นไม้ แปลงผัก ห้องครัว ใต้ถุนบ้าน มุมหนังสือ มุมเล่นอิสระ สนามเด็กเล่น การเลี้ยงสัตว์ฯลฯ ล้วนเป็นพื้นที่ดีสำหรับเด็กได้ทั้งสิ้น
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขาไว้ข้าว ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ และครอบครัว ผู้ปกครองเด็ก ในพื้นที่ ร่วมกับกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี) จัดการพื้นที่ให้เป็นแปลงผักมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดี จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปสู่ครอบครัว 3 ดี และชุมชน เพื่อจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
นายสุภาพ เพ็ชรเรือนทอง และ นางสาวกมนมาศ ตัดสมัย ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขาไว้ข้าว จังหวัดกระบี่ จัดพื้นที่แปลงผักมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดี ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมในแปลงผักอย่างสนุกสนานทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ทำให้เด็กในวัยนี้ได้พัฒนาตนเองทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติการเรียนรู้ การที่เด็กได้ลงมือปลูกเอง เด็กได้เรียนการเฝ้าสังเกต การรอคอย ความรับผิดชอบในการดูแลเอาใจใส่ เมื่อผักโตพอที่สามารถเก็บกินได้ จะทำให้เด็กอยากกินผักกินที่ตนเองปลูก และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างการเรียนรู้เรื่องโภชนา เพื่อให้เด็กเท่าทันและฉลาดรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ด้วยตนเอง
การสร้างการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยในแปลงผักมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกภูมิใจในตัวเอง มีความรับผิดชอบมากขึ้น ยังช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาพจิตดี มีความสร้างสรรค์ และช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นมากขึ้นด้วย
เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมในครอบครัวและชุมชนต้องเอื้อประโยชน์ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและปลอดภัยด้วย คนในชุมชนบ้านเขาไว้ข้าว จังหวัดกระบี่ จึงร่วมกันกำหนดครอบครัว 3 ดี และกติกาชุมชน ที่ถือเป็นการปฏิบัติตามแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เพื่อให้เด็กลดการเล่นโทรศัพท์ ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีน้ำตาลมากและโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด เป็นต้น เป็นอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเด็กสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง หากบริบทรอบตัวเด็กส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้พื้นฐานการมีสุขภาวะทีดี จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยและรู้เท่าทัน ทำให้เด็กรู้สึกอยากรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์น้อยลง
กติกาครอบครัว 3 ดี เพื่อเป็นแนวทางให้กับครอบครัวใช้ในการดูแลเด็ก
- ลดการพูดจา สนทนา ที่ไม่สุภาพในครอบครัว
- ส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางกายในครอบครัว อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน
- ควบคุมการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน – เค็ม (ปริมาณน้ำตาลสำหรับเด็กไม่เกิน 5 ช้อนชาต่อวัน)
- ส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ แทนการรับประทานขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม
กติกาชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เล่นหรือพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนร่วมกัน และสร้างให้เกิดเป็นนิเวศที่ช่วยดูแลและปกป้องเด็กในชุมชนร่วมกัน
- โปรดร่วมกันดูแลรักษาความสะอาด บำรุงรักษา ซ่อมแซมเพื่อประโยชน์ของลูกหลานในชุมชน
- งดการสูบบุหรี่ เสพสิ่งเสพติด และเครื่องดื่มมึนเมาทุกประเภท
นิเวศสื่อสุขภาวะสำหรับเด็กปฐมวัย สู่ครอบครัวและชุมชน จะช่วยให้เด็กได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปสู่ครอบครัวและชุมชนที่เอื้อต่อการดูแลเด็กปฐมวัยให้มีความสุข ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในการเรียนรู้ได้ตามความถนัดและตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ทำให้เด็กมีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจที่ใฝ่เรียนรู้ สนุกสนานกับการค้นหาความรู้ใหม่ๆ ต่อไป
ที่มา: wearehappy