บ้านดอนนูด จ.พัทลุง สร้างนิเวศสื่อสุขภาวะส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้งที่บ้านและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
การจัดสภาพแวดล้อมหรือมุมเสริมประสบการณ์รอบตัวเด็กปฐมวัย ทำให้เด็กได้สนุกสนานกับการเรียนรู้ ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีวินัยและความรับผิดชอบ ทำให้เด็กใช้เวลาจากมือถือน้อยลง จากสถิติพบว่า เด็กเล็กใช้มือถือนานถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การที่เด็กเล็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือมากเกินไปส่งผลต่อต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์รุนแรง โมโหง่าย ทำให้พัฒนาการล่าช้าไม่เหมาะสมตามวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูดสื่อสารที่ติดขัด พูดไม่ชัด พูดช้า หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ขาดทักษะการเข้าสังคม และมนุษย์สัมพันธ์กับคนรอบข้าง
กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านดอนนูด สังกัดเทศบาลตำบลหนองพ้อ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี) เพื่อบูรณาการในการจัดภาพแวดล้อมและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
นางดารุณี วินสน หรือ ครูแดง ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านดอนนูด สังกัดเทศบาลตำบลหนองพ้อ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้บอกเล่าประสบการณ์การใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี) มาใช้จัดสภาพแวดล้อมหรือมุมเสริมประสบการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานกับการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ การที่เด็กต้องใช้เวลาอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวันละ 5- 6 ชั่วโมง ต้องทำให้ช่วงเวลานั้น สุข สนุก สะดวก สบาย และปลอดภัย กับสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมประสบการณ์จากการได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง จากสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ ดอกไม้ พืชผัก ใบไม้ กิ่งไม้ ท่อนไม้ ก้อนหิน ให้เด็กได้เล่นกับธรรมชาติ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการ และต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้
การจัดให้มีมุมน้ำ-มุมทราย จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่แข็งแรง จะทำให้เด็กสามารถหยิบจับสิ่งของได้อย่างมั่นคง มีนิสัยคล่องแคล่ว ว่องไว และกระฉับกระเฉง
มุมเล่นบทบาทสมมุติ การเล่นบทบาทสมมุติ เช่น การเล่นขายของ ทำครัว หรือการแต่งตัวแฟนซี ที่ได้สวมบทบาทเป็นอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครู หมอ ทหาร แม่ค้า อื่นๆ เป็นการฝึกให้เด็กได้ใช้จินตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้พัฒนาทักษะทางสังคม และเรียนรู้ในการแก้ปัญหา
มุมอ่านนิทานหรือสื่อสร้างสรรค์ที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านภาษา ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน จัดให้มีบรรยากาศให้ดูสบายตา รู้สึกผ่อนคลาย เป็นมุมสงบให้เด็กได้มีสติและสามารถใช้จินตนาการไปกับการอ่านนิทาน
มุมภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะชีวิต ผ่านการเล่าเรื่องราวของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน และมีสื่อพื้นบ้าน เช่น ของเล่น อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน เด็กได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรง
การมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กต้อง มีการฝึกวินัยและความรับผิดชอบให้กับเด็กด้วยผ่านการเล่นหรือการทำกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ ด้วยการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ข้อตกลงจะต้องเป็นสิ่งที่ครูและเด็กกำหนดร่วมกัน เช่น การเก็บของเมื่อเล่นเสร็จ การรักษาความสะอาด เมื่อมีเพื่อนเล่นอยู่ให้ขออนุญาตเพื่อนก่อนเข้าไปเล่น เพื่อให้เด็กรู้จักการรอคอยและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
การจัดสภาพแวดล้อมด้วยแนวคิด 3 ดี ที่สอดคล้องต่อพัฒนาการเด็กในช่วงวัย 2-6 ขวบ ต้องทำที่บ้านด้วย เพราะครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อลักษณะนิสัยของเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้ความสำคัญในการใช้เวลากับเด็ก ผ่านการเล่นกับลูกให้มากขึ้น สามารถจัดมุมกิจกรรมต่างๆ ไว้ในบริเวณล้อมบ้านได้ เช่น มุมอ่านหนังสือนิทาน มุมศิลปะ มุมน้ำ-มุมทราย ใส่ในถังหรือกะละมังให้ลูกเล่นได้ หรือชวนลูกทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ชวนลูกปลูกต้นไม้หรือผักสวนครัว ทำอาหาร ทำงานบ้าน จะช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กเกิดวงจรการเรียนรู้ ส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีวินัยและความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำให้เด็กใช้เวลาจากมือถือน้อยลง
สภาพแวดล้อมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กและที่บ้านเป็นนิเวศที่สำคัญ ที่จะสามารถช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี การที่เด็กได้ทำกิจกรรมหรือได้ทดลองปฏิบัติจริงผ่าน”การเล่นสนุก” โดยใช้สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาทักษะชีวิต จะทำให้เด็กเกิดเข้าใจตนเอง เรียนรู้ที่จะประเมินตนเอง เกิดการควบคุมภายในตนเอง และรู้จักเลือกวิธีในการดูแลตนเองได้ดีขึ้น เกิดเป็นภูมิความรู้ที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีและเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไป
ที่มา: wearehappy