DITP ร่วมกับ LIMITED EDUCATION ผนึกพลังนักออกแบบไทย นำไอเดียสร้างสรรค์สินค้าสะท้อนปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

DITP ร่วมกับ LIMITED EDUCATION ผนึกพลังนักออกแบบไทย นำไอเดียสร้างสรรค์สินค้าสะท้อนปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับโครงการ LIMITED EDUCATION เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและช่วยเหลือเยาวชนไทยให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 โดยผนึกกำลังกับเหล่าแบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ 60 แบรนด์ในโครงการฯ ร่วมระดมไอเดียสุดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชิ้น ที่สะท้อนปัญหาการศึกษาไทยผ่านการออกแบบ                                               

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก เป็นโครงการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อมอบองค์ความรู้และแรงสนับสนุนทั้งในแง่ของโอกาสทางค้า ช่องทางประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงเครือข่ายนักออกแบบที่เข้มแข็ง ซึ่งทางกรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมมือกันระหว่าง LIMITED EDUCATION และนักออกแบบในโครงการฯ จะเป็นโอกาสและประสบการณ์อันล้ำค่าที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ นำไอเดียสร้างสรรค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม”

คุณกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” LIMITED EDUCATION กล่าวว่า “ทาง LIMITED EDUCATION ได้เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบในโครงการฯ นำมาสู่การสร้างผลงานที่กระตุ้นความตระหนักรู้ให้สังคมเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กไทย อันเกิดจากเป้าหมายของ LIMITED EDUCATION ภายใต้การดูแลของโครงการร้อยพลังการศึกษา (TCFE) ที่ต้องการช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศไทย โดยที่มาในการทำงานร่วมกับนักออกแบบคือ ต้องการสื่อสารเรื่องที่ฟังดูเข้าใจยากหรือน่าเบื่อให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ 

ปัจจุบัน LIMITED EDUCATION ทำงานในเครือข่ายโรงเรียนทั้งหมด 106 โรงเรียน กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยทั้ง 39 จังหวัด และมีนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วกว่า 45,000 คน ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครู อาจารย์ แบรนด์ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย รวมทั้งผู้บริโภคทุกคน ที่มาร่วมกันเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษา ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำรายได้และเงินบริจาคไปเป็นทุนการศึกษา รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น”

ทีมที่ 1 วิชาคณิตศาสตร์

สำหรับทีมแรกเป็นการออกแบบเครื่องประดับ “ลูกเก๋า” (DICE OF HOPE) ได้แก่ ต่างหู สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ จากเงินแท้ 92.5% โดยเครื่องประดับแต่ละชิ้นจะมีตัวเลขวิชาคณิตศาสตร์จากลายมือน้องๆ และมีเพชรจำนวน 1 เม็ดประดับอยู่บนลูกเต๋า เพื่อแสดงให้เห็นว่าเด็กทุกคนมีค่าดั่งอัญมณี พร้อมใช้เลข 2 และ 4 แทนจำนวน 20.4% ของเด็กไทยที่หายไปจากระบบการศึกษา

นักออกแบบทีม 1 ประกอบไปด้วยทีมศิษย์เก่า หรือ Alumni Team ได้แก่ MIRRORMIRROR และ ARN CREATIVE STUDIO และทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แก่ 1) A.CEMI Jewelry 2) BE’ SHINE 3) CHAND 4) GA.LI.GO 5) JPADA 6) LA GRAMOUS 7) MORMORMOR 8) SEDAR. W 9) SUCETTE 10) TEEMA RUCKSAJIT 11) TOTOP และ 12) WODD Bangkok

 ทีมที่ 2 วิชาวิทยาศาสตร์

ผ้าห่มลายดวงดาวของทีมที่ 2 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของดวงดาวที่หายไป หรือ “ลอสสะตาร์” ซึ่งเปรียบได้กับเหล่าเด็กๆ ที่หายไปจากระบบการศึกษาในทุกปี เพราะดาวดวงน้อยเหล่านั้นอาจไม่ได้รับแสงสว่างมากพอที่จะทำให้เรามองเห็น ดังนั้น “ผ้าห่ม” ผืนนี้จึงเปรียบเสมือน “แผนที่” ไว้ช่วยกันตามหาดวงดาวที่มองไม่เห็นให้กลับมาส่องประกายบนฟากฟ้าอีกครั้ง

นักออกแบบทีม 2 ประกอบไปด้วย Alumni Team ได้แก่ ARTY&FERN และ EGGWHITE และทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แก่ 1) EXCITING STORE 2) GROUND.JEW 3) JIIRA 4) KH EDITIONS 5) LANTARAY 6) MAMAD 7) MARIONSIAM 8) ORACLAY 9) PIECE BY PEAZE 10) SARR.RAI 11)SKIN & TONIC และ 12) WASTEMATTERS

ทีมที่ 3 วิชาภาษาไทย

“วัตถุฮาไว” เป็นชุดเสื้อผ้าฮาวายร่วมสมัย ที่หยิบเอาคำภาษาไทยในชีวิตประจำวันมาใช้เป็นลวดลายบนผ้า โดยดึงตัวอักษร ด.เด็ก ออกไป จนคำที่ได้ออกมาผิดเพี้ยน เพื่อสื่อถึงเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษา 

นักออกแบบทีม 3 ประกอบไปด้วย Alumni Team ได้แก่ MOREOVER และ TAKORN TEXTILE STUDIO และทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แก่ 1) AIBELLE 2) AKANEG FORM 3) ANOTHER CUP 4) CLOTHEAR VESTIAIRE 5)E-NANG 6) EKKO 7) GLISTEN 8) IHAPSTUDIO 9) NONNA NYONYA STUDIO 10) PAWANG 11) PURASA และ 12) TISI

ทีมที่ 4 วิชาภาษาอังกฤษ

GOOD for GOOD – กระเป๋า ฮาว อา ยู ทูเด๊? พร้อมเข็มกลัด ชุดพู่กัน และสี สำหรับลากเส้นต่อจุดบนกระเป๋า เพื่อให้ผู้ใช้ได้มีส่วนร่วมกับผลงาน รวมทั้งเป็นการสื่อถึงบทเรียนและแบบฝึกหัดวิชาภาษาอังกฤษ โดยที่การลากเส้นแต่ละคำ จะทำให้ผู้ใช้ได้หวนนึกถึงช่วงเวลาวัยเด็กในชั่วโมงวิชาภาษาอังกฤษ

นักออกแบบทีม 4 ประกอบไปด้วย Alumni Team ได้แก่ 31THANWA และ PIN METAL ART และทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แก่ 1) ADOR.N ADORN 2) BAGWARD 3) CHERINADDED 4) HIZOGA 5) {JUN} LOQA 7) MAKKHA DESIGN 8) MINCE 9) PHANA 10)TAYALIVING 11) THOC และ 12) VAANG

ทีมที่ 5 วิชาสังคมศาสตร์

Tote bag for SOCIETY เป็นกระเป๋าผ้าที่สะท้อนเรื่องการศึกษา ผ่านลายกราฟิกคำว่า “Soci ty” ที่ไม่มีตัว e และลวดลายรูปเด็กๆ สีสันสดใสที่มีบางส่วนขาดหายไป เพื่อสื่อให้ว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยให้เด็กๆ ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้ เสมือนการเติมตัว e หรือ education ให้กับกระเป๋าใบนี้

นักออกแบบทีม 5 ประกอบไปด้วย Alumni Team ได้แก่ PICA และ NYMPHEART และทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้แก่ 1) 103PAPER SHOP 2) 12C STUDIO 3) ANEW.CRAFT 4) BILLYBEAMO 5) CALIIICO 6) HONNAH 7) KUSU 8) MYS PROJECTS 9) PAVI STUDIO 10) PLUSHIE 11) THE RUBBER PARADOXII และ 12) WE-IN-C

ติดตามและสอบถามข้อมูลของโครงการเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 หรือผ่านทาง Facebook page : Talent Thai & Designers’ Room

ที่มา: ชมพีอาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ