ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ตอกย้ำบทบาทสำคัญของท่าเทียบเรือในการสร้างอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลที่ยั่งยืน

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ตอกย้ำบทบาทสำคัญของท่าเทียบเรือในการสร้างอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลที่ยั่งยืน

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ตอกย้ำบทบาทสำคัญของท่าเทียบเรือในการสร้างอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลที่ยั่งยืน แก่คณะนักศึกษาพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เนื่องในวันทางทะเลโลก

มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ร่วมพิธีแต่งเครื่องแบบ ประดับเครื่องหมายชั้นปี 2566 และแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องในวันทางทะเลโลก แก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการผลักดัน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการของเสียจากเรือขนส่งสินค้าในท่าเรือ เพื่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำในประเทศไทย ผลักดันแนวคิดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับของเสียจากเรือขนส่งสินค้าในท่าเรือ เพื่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คณะนักศึกษาในพิธีแต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายชั้นปี ประจำปี 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี

ในโอกาสนี้ มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเกียรติจากคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เข้าร่วมปาฐกถาในหัวข้อ “การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการของเสียจากเรือขนส่งสินค้า (Reception Facilities)” เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงบทบาทสำคัญของผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือในกระบวนการจัดการของเสียจากการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เพื่อลดมลพิษที่มาจากปฏิบัติการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมฯ

มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ให้เข้าร่วมพิธีแต่งเครื่องแบบ ประดับเครื่องหมายชั้นปี แก่นักศึกษาพาณิชยนาวี ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันทางทะเลโลก โดยปีนี้ IMO ได้กำหนดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมฯ ร่วมผลักดันการดำเนินงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรือ MARPOL อย่างต่อเนื่อง”

องค์การ IMO ได้กำหนดให้อนุสัญญา MARPOL เป็นหนึ่งในเสาหลักในการป้องกันมลพิษและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการปฏิบัติการเรือหรืออุบัติเหตุทางทะเลระหว่างการปฏิบัติการขนส่งสินค้า โดยหนึ่งในสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้ท่าเทียบเรือต้องอำนวยความสะดวกในการรองรับและจัดการของเสียจากเรือขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันการปล่อยทิ้งน้ำมันและสารอันตรายต่างๆ จากเรือลงสู่ทะเล

เพื่อดำเนินตามพันธกิจดังกล่าว กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนา Reception Facilities ในท่าเทียบเรือ Westports ท่าเรือ Port Klang ประเทศมาเลเซีย ด้วยเม็ดเงินลงทุน 450 ล้านบาท บนพื้นที่ 1.7 เอเคอร์ โดยตั้งเป้าการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน

เมื่อการก่อสร้าง Reception Facilities เสร็จสิ้น Westports จะสามารถรองรับและจัดการกากของเสียและของเหลวมีพิษจากเรือขนส่งสินค้าตามข้อกำหนดของ IMO ทั้งยังสามารถรีไซเคิลและบำบัดของเสียภายในท่าเทียบเรือให้พร้อมเข้าสู่กระบวนการกำจัดของเสียในขั้นตอนสุดท้ายอีกด้วย

“เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทยจะเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา Reception Facilities เพื่อยกระดับการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการเดินเรือระดับโลกได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสีเขียวและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” มร. สตีเฟ้นท์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) และคณะพาณิชยนาวีนานาชาติฯ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อสานต่อความร่วมมือแบบทวิภาคี (MOA) ด้านวิชาการและกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืนเป็นปีที่สอง โดย HPT จะสนับสนุนการออกแบบเนื้อหาในการเรียนการสอน เปิดโอกาสให้นักศักษาฝึกงานในบริษัทฯ และส่งเสริมการทัศนศึกษาของคณะที่ท่าเทียบเรือ HPT รวมถึงให้ความร่วมมือในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจการท่าเรือ และ มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท ยังร่วมเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้แก่นักศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจขนส่งทางทะเลเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ได้รับการออกแบบก่อสร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 130 กิโลเมตร HPT ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึงบริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยปัจจุบันเปิดให้บริการในท่าเทียบเรือ A2, A3, C1&C2, D1 และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D

HPT เป็นหนึ่งในเครือสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและประกอบการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 53 แห่ง กระจายอยู่ใน 24 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ

ที่มา:  Hutchison Ports Thailand

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ