กทม. ผนึกกำลังเอเอฟเอส ประเทศไทย ปั้นโรงเรียนสู่โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาพลเมืองโลก
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรรมการมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และเอเอฟเอส ประเทศไทย ว่าด้วยการประสานความร่วมมือโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก ณ ศาลาว่าการ กทม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีองค์ความรู้และเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Learning) รวมทั้งเพื่อช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนมีทักษะด้านความฉลาดทางวัฒนธรรม (CQ: Cultural Intelligence) เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ โดยมีนางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ ร่วมพิธี
นายสนั่น กล่าวว่า “ตลอด 61 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายสำคัญของเอเอฟเอส ประเทศไทย คือ การสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งปัจจุบันผลผลิตของเอเอฟเอส ประเทศไทย กระจายอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมแล้วกว่า 22,000 คน ที่เป็นผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นนักการทูต นักธุรกิจ นักวิชาการ แพทย์ ศิลปิน เป็นต้น เอเอฟเอส ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสังคมด้วยส่งเสริมการศึกษาข้ามวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาพลเมืองโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ของสหประชาชาติ”
ผศ. ดร.วัชรพจน์ กล่าวว่า “เอเอฟเอส ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพลเมืองไทย ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในสังคมโลก รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะในระดับบุคคล ให้กลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการสร้างเสริมสังคม และประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งความสงบสุขและเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน นอกจากนี้เอเอฟเอส ประเทศไทย ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานจากโครงการแลกเปลี่ยนระยะ 1 ปีสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สู่การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต (Intercultural Life-long Learning) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ 2580 ซึ่งครอบคลุมในหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย คนวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้สูงวัย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความฉลาดทางวัฒนธรรม (CQ: Cultural Intelligence) รวมไปถึงการพัฒนาวิสัยทัศน์ของบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพตามพันธกิจหลักของเอเอฟเอส ประเทศไทย”
นายขจิต กล่าวว่า “นโยบายด้านการศึกษาของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เรื่องของ “ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก” และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้เรียนในทุกช่วงวัย รวมทั้งเพื่อการเป็นพลเมืองของโลกที่ยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และเอเอฟเอส ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือภายใต้โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อเพิ่มคุณภาพและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผ่านการเลือกใช้นวัตกรรมการศึกษาและออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคมโลกในอนาคตแก่ผู้เรียน โดยการนำองค์ความรู้เรื่องการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมมาบูรณาการให้เข้ากับการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับและสร้างความทัดเทียมด้านการศึกษาไทยให้มีความเป็นสากล ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้รับการพัฒนาครบสมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งทัศนคติ ทักษะ และความรู้ด้านการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะในระดับบุคคล ซึ่งจะกลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งความสงบสุขและเคารพในความแตกต่าง ตามนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครและพันธกิจหลักของเอเอฟเอส ประเทศไทย”
ที่มา: มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส ประเทศไทย)