โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น” ควงเหล่าติวเตอร์ TCASter ถอดบทเรียน TCAS66 พร้อมรับมือสู้ศึก TCAS67
หลังยกเครื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้นอกจากการเตรียมตัวของบรรดานักเรียน DEK67 ที่กำลังจะเข้าสนามสอบในปีนี้แล้ว เหล่าติวเตอร์ทั่วประเทศต่างก็ต้องทำการบ้าน ยกเครื่องรูปแบบการสอนกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการสอบที่ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน พี่น็อต ดร.ธีระยุทธ บุญมา และ พี่โจ้ ปณต หาญชัยยุทธกร สองผู้เชี่ยวชาญระบบสอบ TCAS จาก TCASter ได้วิเคราะห์ 4 ปัญหาหลักของ DEK66 เพื่อเตือนสติ DEK67 ให้ระมัดระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยขึ้นอีกในปีนี้ ดังนี้
- ยื่นสมัครรอบแอดมิชชั่นแล้วหลุด เพราะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเทียบคะแนนผิดพลาด แนวทางการแก้ไขนอกจากจะใช้คะแนนต่ำสุดของปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์เทียบแล้ว ให้เปรียบเทียบหลักเกณฑ์อื่นของคณะ / สาขาวิชา / มหาวิทยาลัย ที่เลือกด้วยว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ต้องดูศักยภาพของตัวเองประกอบว่าสามารถไปต่อในสายหรือสาขานั้นได้หรือไม่
- วิชา TGAT, TPAT ได้คะแนนน้อย แต่ภาพรวมคะแนนยังเฟ้อ เพราะปัญหาใหญ่ของนักเรียนคือ ทำข้อสอบ TGAT, TPAT ไม่ทันตามเวลาที่กำหนด ทางแก้ไขคือต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ให้เกิดความชำนาญเพราะแนวข้อสอบสองวิชานี้ไม่ได้ซับซ้อน แต่จะเน้นความรวดเร็วในการทำข้อสอบเป็นหลัก
- ไม่ได้ยื่นสมัครรอบพอร์ตและโควต้า เพราะไม่ทราบกำหนดการรับสมัคร ทางแก้ไขคือให้ติดตามข่าวสารจากแต่ละมหาวิทยาลัยหรือติดตามจากแอปฯ TCASter โดยรอบพอร์ตจะเปิดรับช่วงประมาณเดือน ต.ค. – ม.ค. และรอบโควต้าจะเปิดรับช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย.
- ลืมสมัครสอบ TGAT, TPAT, A-Level เมื่อไม่ได้สมัคร จึงไม่มีคะแนนยื่นสมัคร ทางแก้ไขคือ หากยังไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้ผลคะแนนหรือไม่ ให้ยื่นสมัครไว้ก่อน และควรทำลิสต์วันรับสมัคร วันจ่ายเงิน วันสอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ น้อง ๆ ควรต้องทำความเข้าใจกับความหมายของสถานะทั้ง 3 สถานะให้ชัดเจน เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิ์ของน้อง ๆ ในรอบถัดไป โดยสถานะมีดังต่อไปนี้
- ยืนยันสิทธิ์ คือการยืนยันที่เรียนที่ได้แล้ว เมื่อใช้สิทธิ์นี้จะไม่สามารถไปสมัครรอบอื่นได้อีก
- ไม่ใช้สิทธิ์ คือการสอบติดรอบแรกแล้ว แต่ไม่ต้องการใช้สิทธิ์ เพราะต้องการไปรอบต่อไป ต้องเลือกสถานะนี้
- สละสิทธิ์ สำหรับน้อง ๆ ที่เคยยืนยันสิทธิ์มาแล้ว ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจอยากไปรอบอื่น ต้องสละสิทธิ์เสียก่อนจึงจะไปรอบอื่นได้ และการสละสิทธิ์จะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับน้อง ๆ DEK67 ให้สามารถรับมือกับข้อสอบได้แบบไม่มโน โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 26” ยังได้จัดเสวนา “ถอดบทเรียน TCAS66 เตรียมสู้เต็มขั้น TCAS67” โดยได้รับเกียรติจาก 6 ติวเตอร์ชั้นนำระดับประเทศ เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่ พี่ปั้น อ.ปวรุตม์ ธีรบุษยเวศย์ จาก SmartMathPro พี่เอ๋ อ.วิเศษ กี่สุขพันธ์ จาก We by The Brain ครูเลดี้เก๋เก๋ อ.สุวคนธ์ อินป้อง ครูพี่วิน เตรียมโดม อ.นาวิน แซ่โค้ว พี่วิเวียน อ.นพ.วีรวัช เอนกจำนงค์พร จาก OnDemand และพี่ฟาร์ม อ.ปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล จาก PhysicsFarm
- วิชา TGAT ควรต้องรู้น้ำหนักแต่ละ part ว่าเน้นมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากรายละเอียดของคณะ / สาขาวิชาที่ต้องการยื่นสมัคร ให้ความสำคัญกับ part ที่คณะ / สาขาวิชานั้นมุ่งเน้น นอกจากนี้การทำข้อสอบเก่า ๆ ก็จะช่วยให้เห็นแนวของข้อสอบได้มาก และแม้จะผ่านตาข้อสอบเก่ามาแล้ว แต่ก็ต้องระวังคำสั่งในข้อสอบด้วยการอ่านให้รอบคอบเสมอ
- วิชาภาษาอังกฤษ ในส่วน TGAT1 จะเหลือ 4 choice และในส่วน A-Level ตัวชี้วัดจะยากขึ้นแต่ไม่ว่าแนวข้อสอบจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวชี้วัดก็ยังคงเดิม การฝึกฝนทำข้อสอบแนวต่าง ๆ ทั้ง conversation, cloze test, grammar, structure, vocabulary, reading จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
- วิชาภาษาไทย ในส่วน TGAT2 เน้นเทคนิคคล้าย A-Level ภาษาไทย และบางข้ออาจจะต้องใช้เวลาคิดพอสมควร ควรฝึกฝนทำข้อสอบเก่าให้คุ้นชิน และบางข้ออาจต้องใช้เวลาในการตีความ
- วิชา TPAT1 ความถนัดทางแพทย์ ข้อสอบจะเป็นการถามตัวเองว่าเหมาะสมกับการเป็นหมอหรือไม่ มี 3 part คือจริยธรรม เชาว์ปัญญาและเชื่อมโยง part ที่ยากสุดคือจริยธรรม ที่เป็นเรื่องของทัศนคติ สอนกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก สำหรับเทคนิคการยื่นสมัคร หากเป็นน้อง ๆ นักเรียนต่างจังหวัดแนะนำให้ยื่นรอบโควต้าด้วย และทุกคนที่มีความสามารถพิเศษ ไม่ควรพลาดยื่นรอบพอร์ตด้วยเช่นกัน
- วิชา TPAT3 ความถนัดทางวิศวะ คะแนนเฉลี่ยปีที่ผ่านมาสูงมากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแนวข้อสอบ เน้นวิทย์ + เทคโนโลยี + วิศวกรรมศาสตร์ วัดทักษะความแม่นยำและความเร็ว เปลี่ยนจากความจำเป็นความเข้าใจ เน้นหาผลลัพธ์มากกว่าเน้นกระบวนการคิด เน้นทดสอบความถนัด วัดความรู้ความคิดความสนใจว่าเหมาะที่จะเป็นวิศวกรได้หรือไม่ ควรฝึกทำข้อสอบเก่า แต่ไม่ควรเก่ากว่าปีที่ผ่านมา
- วิชาคณิตศาสตร์ เป็นข้อสอบที่เน้นวัดความเร็ว หากเตรียมตัวด้วยการซ้อมทำโจทย์บ่อย ๆ จะช่วยได้ เพราะจะเกิดความเคยชิน เทคนิคการทำข้อสอบให้ทันเวลาคือให้เลือกทำข้อที่มั่นใจไว้ก่อน จะได้ไม่เสียเวลา
- วิชาชีววิทยา หากทำคะแนนวิชานี้ได้สูง บวกกับวิชาท่องอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ก็มีโอกาสติดคณะแพทย์ฯ ได้ ต่างจากสมัยก่อนที่เน้นคะแนนในส่วนเลข ฟิสิกส์มากกว่า เทคนิคแนะนำคนที่อยากสอบติดคณะแพทย์ฯ ที่ปัจจุบันติดได้ง่ายกว่าสมัยก่อน คือ หากเป็นสายคำนวณให้เน้นทำคะแนนวิชาคำนวณ หากเป็นสายท่อง ให้เน้นทำคะแนนวิชาสายท่องกับอังกฤษ สำหรับแนวข้อสอบวิชาชีววิทยา ให้เน้นตามหนังสือกระทรวงปี 2560 และเฉลี่ยการออกข้อสอบทุกเรื่องเท่า ๆ กัน
- วิชาฟิสิกส์ ความยากของวิชานี้ยังคงเส้นคงวา เพราะแม้ว่าจะเปลี่ยนคนออกข้อสอบมาเป็น สสวท. ตั้งแต่ปี 2565 แต่คะแนนเฉลี่ยก็ไม่ได้สูงขึ้นจากเดิม เนื้อหาวิชาให้เน้นตามของเดิม ออกครบทุกบท และเน้นความเข้าใจในเนื้อหาเป็นหลัก
- วิชาสังคมศึกษา แนวข้อสอบสังคมจะถามใน 5 กลุ่มสาระ คือ ศาสนา หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เทคนิคการทำข้อสอบให้เก็บในส่วนหลักธรรม ศาสนาก่อน ส่วนของประวัติศาสตร์จะค่อนข้างยากและถามกว้าง ๆ ควรทำเป็น part สุดท้าย
ความคิดเห็นและแนววิเคราะห์ของเหล่าติวเตอร์ จะเป็นแนวทางที่ช่วยชี้แนะให้น้อง ๆ DEK67 เข้าใจในรูปแบบข้อสอบ TCAS ที่จะต้องพบเจอในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากการทำความเข้าใจกับบทเรียนทั้งหมดแล้ว การฝึกฝนทำข้อสอบเก่าก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับแนวข้อสอบ และที่ต้องไม่ลืมคือ ความรอบคอบในการอ่านโจทย์หรือคำสั่งในข้อสอบอย่างละเอียด ซึ่งความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมของคนที่มีความพยายามอย่างแน่นอน
โครงการสหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 26 ได้เริ่มติวในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยการติวชุดแรกคือติว 5 วิชา ใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค ระหว่าง 16-31 สิงหาคม 2566 นี้ จากนั้นเป็นการติวสดออนไลน์ 6 วันติดกัน ระหว่างวันที่ 2-7 ตุลาคม 2566 ถ่ายทอดสัญญาณทาง FB: Sahapat Admission
น้อง ๆ นักเรียนและโรงเรียนที่สนใจร่วมโครงการติวฟรีของสหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 26 สามารถสมัครได้แล้ววันนี้ ที่ www.sahapatadmission.com และติดตามข่าวสารข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ทาง FB : Sahapat Admission หรือ โทร. 064-163-3449, 085-869-6252
ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น