“อว.” จัดงานแสดงผลงานและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จหลักสูตร พัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” พร้อมตั้งเป้าพัฒนาหลักสูตรขยายผลสู่หน่วยงานอื่นต่อไป
ผ่านไปแล้วกับโครงการอบรมบุคลากรจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับ หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ภายใต้โครงการ นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐ : แซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้บุคลากรสามารถเลือกใช้สื่อ และการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและทันต่อยุคสมัย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงโครงการและนโยบายที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
สำหรับการอบรม หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) ในครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของกระทรวงฯ จากการเล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาการสื่อสารในองค์กรทั้งแนวคิดและสร้างโมเดลการทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีบุคคลากรทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรเข้าร่วมอบรมกว่า 90 คน ประกอบด้วย บุคคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัด กระทรวง อว. ทั้งหมด 31 หน่วยงาน ซึ่งได้มีการอบรม Workshop จำนวน 3 ครั้ง พร้อมการแข่งขัน ทดลองสร้างสรรค์สื่อ เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยมี ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) เป็นหัวหน้าโครงการผู้นำทีมวิจัยในการพัฒนาหลักสูตร
ในการนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำการจัด “งานแสดงผลงานและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) ขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความยินดีให้กับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องบอลรูม A-B โรงแรมมารวยการ์เด้น งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าโครงการผู้นำทีมวิจัยในการพัฒนาหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX พร้อมทั้งผู้บุคคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงอว. และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานกว่า 150 ท่าน
ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้กล่าวว่า “สำหรับ หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX ในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในการเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นที่รู้จัก สนใจ และสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะยังคงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อที่จะให้เป็นหลักสูตรต้นแบบในการขยายผลไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้ในอนาคต”
นอกจากนี้ ดร.วิภารัตน์ ยังได้มอบประกาศนียบัตรพร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จหลักสูตรฯ ทุกท่าน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ พร้อมนำความรู้ ทักษะ และแนวคิดการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับจากในโครงการนี้ ไปพัฒนาต่อยอดสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และเป็นบุคคลากรคุณภาพที่ช่วยยกระดับการสื่อสารโดยรวมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ซึ่งในงานนี้ยังได้มีการแสดงผลงานของทีมผู้เข้าอบรมที่ได้รับรางวัลจากแข่งขันจำนวนทั้งหมด 4 ทีม โดย รางวัล The Winner Prize (รางวัลชนะเลิศ) รางวัล The First-Runner Up (รองชนะเลิศอันดับ 1) และรางวัล Second-Runner Up (รองชนะเลิศอันดับ 2) จะมอบให้กับทีมที่ผลิตสื่อออกมาได้มีคุณภาพ และประยุกต์ใช้ความรู้จากการอบรมได้ดีเยี่ยม มีการให้คะแนน จาก กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์สื่อ และ กรรมการทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิต-นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป ใน 4 หัวข้อ ได้แก่
- ความน่าสนใจของสื่อ (Media) ได้แก่ การสื่อสารที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน สวยงาม น่าสนใจ และน่าแชร์ต่อให้ผู้อื่น
- คุณภาพของเนื้อหา (Content)ได้แก่ การสื่อสาร ที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย นำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน และมี call to action ที่ชัดเจน
- การสื่อสารอัตลักษณ์องค์กร (Identity)สามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของทั้งหน่วยงานที่เป็นผู้เผยแพร่สื่อ และกระทรวง อว.ที่เป็นต้นสังกัด และมีความน่าเชื่อถือ
- สร้างผลกระทบทางสังคม (Social Impact)คือสามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วม ที่ทำให้อยากมีส่วนร่วมหรือลงมือทำ จุดประเด็นที่น่าสนใจ สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม หรือ ส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายพูดคุย
- และรางวัล Popular Vote จะถูกมอบให้แก่ทีมที่เผยแพร่สื่อผ่านช่องทาง Social Media และได้ผลลัพทธ์โดยร่วมดีที่สุด โดยคำนวณจาก Post Interaction Rate หรือ จำนวนการ Engage กับสื่อเมื่อเทียบกับขนาดของ follower ในช่องทางที่เผยแพร่
รายละเอียดทีมที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 ทีมโดยสังเขป
รางวัล The Winner Prize (รางวัลชนะเลิศ)
ได้แก่ ทีมที่ 2 ประกอบด้วย ผู้อบรมจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วว.) (NECTEC) และ ซินโครตรอน โดยได้ทำการสื่อสารเกี่ยวกับงานสัมมนา NECTEC ACE 2023 “Data for Thai, Data for All” งานเดียวที่รวมทุกมิติของข้อมูล เพื่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อโปรโมทกิจกรรมดังกล่าว ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเอกชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ได้รู้ถึงรายละเอียดของงาน และลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media ของ NECTEC
รางวัล The First-Runner Up (รองชนะเลิศอันดับ 1)
ได้แก่ ทีมที่10 ประกอบด้วย ผู้อบรมจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้ทำการสื่อสารเกี่ยวกับการ รู้ “เฒ่า”ทันสื่อ ในโครงการเกษียณมีดี เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย มีความรู้เท่าทันในการใช้สื่อดิจิทัล และมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ โดยเผยแพร่สื่อผ่านช่องทาง Social Media ของโครงการเกษียณมีดี
รางวัล Second-Runner Up (รองชนะเลิศอันดับ 2)
ได้แก่ ทีมที่ 1 ประกอบด้วย ผู้อบรมจาก สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวง อว. (สร.อว), สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.), และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสาตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยได้ทำการสื่อสารเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศผ่านการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาและการพัฒนาบุคลากรการวิจัยผ่านหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำหรือเข้าร่วมในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ กระตุ้นให้เกิดความสนใจการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานเดิม โดยสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media ของ สอวช. และ ธัชชา
รางวัล Popular Vote
ได้แก่ ทีมที่ 9 ประกอบด้วย ผู้อบรมจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TedFund) โดยได้ทำการสื่อสารเกี่ยวกับโครงการทุนวิจัยเพื่อยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมไทย (IDEs) เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยสามารถ สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ตลาดสากล โดยสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media ของ บพข.
ที่มา: อินฟินิตี้ คอมมิวนิเคชั่นส์