ม.มหิดลเชื่อมั่นหลักสูตร 420 ชม.กู้วิกฤติสูงวัยถูกทำร้ายจากปัญหาสุขภาพจิตผู้ดูแล
นับจากนี้ไป ด้วยหลักสูตรคุณภาพ 420 ชั่วโมงดูแลผู้สูงวัยที่สร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรกระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานครและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เชื่อมั่นว่าจะ “กู้วิกฤติศรัทธา” ที่มีต่อวิชาชีพ “ผู้ดูแลผู้สูงวัย” ให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงปัจจัยสำคัญของวิชาชีพ “ผู้ดูแลผู้สูงวัย” นอกจาก “พลังกาย” ที่แข็งแรง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว จะต้องมี “พลังใจ” ที่เข้มแข็งพร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้สูงวัย “ด้วยหัวใจ”
จึงได้ออกแบบหลักสูตร 420 ชั่วโมงดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่คัดกรองผู้สมัครรุ่นแรก โดยให้ความสำคัญกับ “การทดสอบทัศนคติและสุขภาพจิต”
ด่านสำคัญอยู่ที่การทำแบบประเมินและการสอบสัมภาษณ์ ที่จะช่วยให้สามารถประเมินสุขภาพจิตและทัศนคติของผู้สมัครได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากงานดูแลผู้สูงวัยเป็นงานที่”ท้าทายจิตสำนึก” ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงวัยที่มีความเปราะบาง เพื่อแบ่งเบาภาระพยาบาลวิชาชีพ “ด่านหน้า” ที่ยังคงประสบวิกฤติขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง
จนได้ผู้เข้าอบรมซึ่งผ่านกระบวนการคัดสรรคุณภาพแล้วจำนวน 40 ราย จากผู้สมัคร 351 ราย พร้อมเดินหน้าอบรมภาคทฤษฎี 210 ชั่วโมง และฝึกปฏิบัติอีก 210 ชั่วโมง ด้วยวิชาการคุณภาพจากคณาจารย์แพทย์และพยาบาลผู้ทรงคุณวุฒิจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และครบพร้อมด้วยนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน จาก “หุ่นฝึกปฏิบัติ” ที่เกิดจากความร่วมมือกับ”การยางแห่งประเทศไทย” เพื่อใช้ในการฝึกดูแลผู้สูงวัยอาทิ การทำแผลกดทับ และการใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
คาดว่าเมื่อผ่านการทดสอบก่อนจบหลักสูตรและได้รับประกาศนียบัตรจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในอีกเพียง 3 เดือนเศษข้างหน้าจะสามารถสร้างอาชีพให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และทักษะ ที่ได้รับการฝึกจนชำนาญมาแล้วจากหลักสูตรฯ
ในการจัดการอบรมครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนในการศึกษาวิจัยและติดตามผลของการอบรมจากวช.จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้สมัคร เพื่อการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาการจัดฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงวัยให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
และต่อยอดขยายผลสู่วงกว้าง พร้อมมอบบริการที่ดีให้กับผู้สูงวัยที่นับวันจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนไม่น้อยที่จะต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นเหตุให้ต้องกลายเป็น “ผู้ป่วยติดเตียง” ที่ต้องการผู้ดูแลที่มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดี
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล