ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี ชวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กไทย หยุด “บูลลี่” ในรั้วโรงเรียน จัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่”
ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี ชวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กไทย หยุด “บูลลี่” ในรั้วโรงเรียน จัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” ชวนเยาวชนระดับมัธยมศึกษาสร้างสรรค์ผลงาน ชิงถ้วยพระราชทานฯ พร้อมทุนการศึกษา สมัครเลย! ถึงวันที่ 31 สิงหาคม นี้
หลายครั้งที่เรามักจะหยอกล้อคนอื่นด้วยความคึกคะนอง เพียงเพื่อเรียกเสียงหัวเราะสร้างความสนุกสนานให้กับคนรอบข้าง โดยไม่รู้ตัวว่าได้สร้าง “บาดแผลในใจ” ให้กับคนที่ถูกกระทำ ซึ่งจริง ๆ แล้ว นั่นคือการ “บูลลี่” (Bully) ที่หลายคนรู้จักกันดี
แม้สังคมไทยจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาการ “บูลลี่” แต่พบว่าสถานการณ์กลับมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันของเด็กไทยติดอันดับ2 ของโลก เป็นรองแค่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าสูงมาก! และที่น่าห่วงใย คือ ในสถานศึกษาที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะความหวาดกลัวให้กับเด็ก ๆ ที่สำคัญดูเหมือนว่าจะยังไม่มีวิธีหยุดวงจรนี้ได้อย่างจริงจัง
โดยจากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน ของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อปี 2563 พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ และวิธีการที่ใช้มากที่สุดคือ การตบหัว ล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ถูกเหยียดหยาม และอื่น ๆ เช่น ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสี นินทา เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางจิตใจและร่างกาย อีกทั้งเชื่อมโยงไปถึงผลการเรียนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และที่เลวร้ายกว่านั้น หากเด็กแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหว อาจนำไปสู่การสูญเสียที่ไม่อาจหวนคืน ดังนั้น การ “บูลลี่” จึงไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป
โครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” เดินหน้าส่งเสริมทักษะให้กับเยาวชนไทยในทุกมิติ ให้กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น ตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่ของเด็กไทย จึงได้จัดประกวดโครงงาน ในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” เพื่อเปิดเวทีสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีมสร้างสรรค์โครงงานเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ โดยกระตุ้นจิตสำนึก และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มแก้ไขจากการบูลลี่ในโรงเรียน เพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาและนำผลงานที่ชนะเลิศออกเผยแพร่ นำไปปรับใช้เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและสังคมต่อไทย
จึงขอเชิญคุณครู อาจารย์ และน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา สมัครเข้าร่วมประกวดประเภททีม ๆ ละ 5-7 คน เพื่อส่งโครงงานเข้าร่วมประกวด โดยโครงงานที่น้อง ๆ จะได้เป็นส่วนสำคัญในการหยุดยั้งวงจรบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามที่นักเรียนให้ความสนใจ อาทิ ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้ปกครอง โรงเรียน ประเทศชาติ เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าว หวังให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ การวางแผนและการทำงานเป็นทีม อย่างเป็นระบบ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย (มัธยมต้น 10 ทีม และมัธยมปลาย 10 ทีม) จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 บาทต่อโครงงานที่ผ่านรอบคัดเลือก เพื่อนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน และนักเรียนจะได้นำผลการทำโครงงานในระยะเวลา 3 เดือนกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ จากกรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงาน กสทช. อาจารย์มหาวิทยาลัย และครีเอทีฟมืออาชีพ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา เพื่อเชิดชูเกียรติต่อไป
ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน สถาบันการศึกษาสามารถส่งน้อง ๆ เยาวชน สมัครเข้าร่วมประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” ประจำปี 2566 และเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้คุณครูสามารถส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติม ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ศึกษาดูรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้ที่www.เท่อย่างไทย.com หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 06 2070 0088, 06 2070 0099
ติดตามกิจกรรมดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbfoundation.org
ที่มา: ชมพีอาร์