ม.มหิดลชูวิจัยแรงงานย้ายถิ่น ทลายกำแพงแห่งความเหลื่อมล้ำประชากรโลก
แม้สถานการณ์ประชากรโลกจะมีความ “ผันผวน” ตามอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง แต่ “แรงงานย้ายถิ่น” ยังคงหมุนไปตาม “กระแสน้ำแห่งประชากร” ที่คอยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลกให้คงอยู่ต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมประชุม Strengthening Policy on Migration and Rural Change และ European Commission จัดโดย AGRUMIG (Migration Governance and Agricultural and Rural Change) ในฐานะผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมอภิปราย ณ กรุงบรัสเซลล์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 6 – 7 ธันวาคม2565 ที่ผ่านมา
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ได้ทำหน้าที่”ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้แทนนักวิจัยจากประเทศไทย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้ร่วมกับนักวิจัยโครงการ AGRUMIG จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เนปาล คีร์กีซสถาน มอลโดวา โมรอคโค เอธิโอเปีย และนักวิจัยจากประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรเลีย
ซึ่งในการประชุมฯ ได้มีการถกเรื่องปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติในปัจจุบันที่ยอมรับให้ “การย้ายถิ่น” เป็น”สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นในปัจจุบันเป็นพลวัตรอย่างไม่มีวันสิ้นสุดและมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์ ทั้งการแพทย์และสาธารณสุข สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม รัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศ หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาวะ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่อประชากร สู่การตั้งโจทย์วิจัยเพื่อหาทางแก้ไขในระดับนโยบาย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บูรณาการการวิจัยกับการจัดการเรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายหลักสู่การบรรลุ SDG10 ทลายกำแพงแห่งความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) แห่งสหประชาชาติ
ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไป สำหรับนโยบายแรงงานย้ายถิ่นของไทย คือ การทดแทนแรงงานที่หายไปเนื่องจากการเกิดที่ลดลงด้วยแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งต้องมีการวางแผนกำหนดเป้าหมาย และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบพร้อมรับสังคมที่มีความหลากหลาย และอย่างมีบูรณาการโดยยึดหลักความสุข ความเสมอภาค คุณภาพชีวิต ความเป็นปึกแผ่น และความยั่งยืนของประเทศ
โดยมี “กุญแจสำคัญ” ที่พร้อม “ไขประตูสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ” คือ “จะทำอย่างไรให้แรงงานย้ายถิ่น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์จากการย้ายถิ่นมากที่สุด” และมีการปรึกษาหารือกันกับเครือข่ายฯ พร้อมร่วมวางแผนและจัดการแรงงานย้ายถิ่นอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องรอจนเกิดภาวะวิกฤติ
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล