ม.พะเยา ร่วมมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2023

ม.พะเยา ร่วมมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2023

มหาวิทยาลัยพะเยา นำคณะนักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือ ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมชุมชน ร่วมกับเครือข่ายฝ้ายหลวงภาคเหนือ 8 จังหวัดตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน) นำเสนอผลการดำเนินงานภายใต้งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2023 “สานพลังขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566

อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย นำคณะนักวิจัยร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2023 วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ฯ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าร่วมนำเสนอโครงการวิจัยพระพุทธปฏิมาศิลาทรายสกุลช่างพะเยากับการสร้างสรรค์สื่อเสมือนจริง โดย อาจารย์จิรวัฒน์ สุขแก้ว คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมชุมชน โดยผู้ช่วยอธิการบดี ดร.จารุวรรณ โปษยานนท์ หัวหน้าโครงการ และอาจารย์ปณิธาน ประมูล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือ ระยะที่ 1 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ เทศบาลตำบลเชียงม่วน เทศบาลตำบลหย่วน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ เทศบาลเมืองเขลางค์นคร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เทศบาลตำบลบ่อแก้ว อ.นาหมื่น จังหวัดน่าน และ สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา เป็นต้น

โดยการวิจัยนี้เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมฝ้ายหลวง (ฝ้ายยืนต้น)และค้นหาองค์ความรู้ด้านการผลิตหัตถกรรมจากฝ้ายท้องถิ่นบนฐานวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ล้านนาแล้วนำมาสร้างให้เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้แบบ สร้างสรรค์ พร้อมกับส่งเสริมการปลูกฝ้ายหลวงในรูปแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็นพืชเศรษฐกิจในระดับชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนล้านนาที่ยังคงใช้ฝ้ายในวิถีวัตนธรรมอย่างมากมายตลอดชั่วชีวิต อีกทั้งยังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหัตถกรรมฝ้ายในมิติเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่มุ่งพึ่งพาตนเอง ลดการใช้วัสดุนำเข้าหรือวัสดุสังเคราะห์พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าในการผลิตสินค้าหัตถกรรมฝ้ายหลวงตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยการพัฒนานวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ถือเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการทางวัฒนธรรมของชุมชนไปสู่สากลต่อไป

ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ