“ชีวิตคิดบวก” หลักสูตรชีวิต จากคุณหมอเจี๊ยบ ลลนา ให้แรงบันดาลใจน้องๆ ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปีการศึกษา 2566

“ชีวิตคิดบวก” หลักสูตรชีวิต จากคุณหมอเจี๊ยบ ลลนา ให้แรงบันดาลใจน้องๆ ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปีการศึกษา 2566

“ชีวิตคิดบวก คือ มองโลกตามความเป็นจริง เห็นศักยภาพในสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในตัวของตัวเอง พูดเรื่องจริง มองตามจริง ไม่ได้มองแบบท้อแท้ ไม่บั่นทอนตัวเอง สมมติจะสอบแล้ว คิดว่าทำไม่ได้ สอบตกแน่ แต่ถ้าเราคิดบวก ว่าข้อสอบนี้ยากจริง ต้องอ่านหนังสือ ต้องพยายาม ต้องตั้งใจเรียน เราน่าจะสอบผ่านได้นะ นั่นคือการคิดบวกแล้ว”

ฮีลใจเป็นอย่างมาก สำหรับกิจกรรม “รักน้อง คล้องใจ…นักศึกษาใหม่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ภายในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2566 นอกจากรับชมวิดิทัศน์และรับมอบโอวาทจากคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว ช่วงเสวนา “ชีวิตคิดบวก” เป็นการแชร์ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ยังได้เชิญ “หมอเจี๊ยบ แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์” แพทย์เฉพาะทาง แผนกฉุกเฉินและประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Let’ s Be Heroes มาพูดคุยถึงประสบการณ์การเรียน เป็นแนวทางให้น้องๆ นักศึกษาใหม่สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในรั้วราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“เจี๊ยบผ่านการสอบตกมาแล้ว ประสบการณ์นี้เชี่ยวชาญมาก ตอนเด็กๆ สอบได้เกรดศูนย์นะ วิทยาศาสตร์เกรดสอง ยิมนาสติกเกรดหนึ่ง ปกติไม่เก่งวิชาการก็ต้องเก่งกีฬา แต่นี่ไม่เก่งสักอย่าง พ่อแม่ไม่หวังอนาคตแล้ว แต่ตัวเองคิดบวกไงว่าถ้าฉันอยากเป็นหมอ ฉันน่าจะทำได้ ถ้าเรามีความพยายามตั้งใจแล้วก็ลองดูสักตั้ง มองตามความเป็นจริงว่าเราได้เรียนหนังสือเหมือนเพื่อนคนอื่น แขน ขาก็มีครบ ทำไมจะทำไม่ได้ล่ะ ซึ่งถ้าตอนนั้นไปคิดว่าฉันเคยเรียนแล้วสอบตก จะเอาความสามารถที่ไหนไปเรียนหมอ ถ้าคิดบั่นทอนตัวเองตั้งแต่วันนั้น วันนี้ก็คงไม่ได้เรียนแพทย์มีประสบการณ์มาคุยให้น้องๆ ฟัง”

“คิดบวก คือ มองตามความเป็นจริง ลงมือทำ ไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ฟังเสียงในหัวที่มาบั่นทอน หรือจะฟังก็ได้แต่ให้มองเป็นมุมท้าทาย เวลาใช้ชีวิต ก็มีสองตัวนี่แหละอยู่ที่ไหล่ ตัวมารกับตัวแองเจิ้ล ถ้ามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่กลัวที่จะทำ สุดท้ายจะมีอะไรดีขึ้นในชีวิตของทุกคน อย่างเพื่อนที่รู้จักกันไม่ได้เรียน ม.ปลายด้วยกัน ทุกคนงงหมด เราไปได้ยังไง ยิ่งตอนประกวดนางงาม ยิ่งเป็นได้ยังไง ทรงแบบนี้ และไม่สามารถถือไมค์พูดแบบนี้ได้เลย ดังนั้น ที่มาจนถึงวันนี้ได้ ทำทุกอย่างที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่ฟังเสียงนั้น เราคิดบวก”

เริ่มที่ความคิดของเรา

“เข้าใจยุคนี้มีโซเชียล สมัยก่อนอาจต้องเขียนจดหมายหากัน เดี๋ยวนี้ต่อว่ากันได้เลย ส่วนตัวของเจี๊ยบกว่าเราจะโตขึ้นมาผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน จากรุ่นที่ยังไม่ได้มีโซเชียลมาก จนกระทั่งถึงจุดที่เป็นคนสาธารณะ เคยอ่านบางอย่างแล้วเฟล ร้องไห้ บางอย่างเขาพูดสิ่งไม่จริง รู้สึกว่าเขาไม่รู้จักเราเลยทำไมเขาตัดสินแล้ว คนรอบข้างทุกคนบอกอย่าสนใจ แต่ใจมนุษย์ ไม่มีวัคซีน เจอครั้งแรกปุ๊บมันก็ป่วย สุดท้ายเราก็ทำได้แค่ว่าเราทำสิ่งที่เราทำให้มันดีที่สุด ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า หรือถ้าเราเป็นอย่างที่เขาว่าจริงเราก็ต้องหาทางพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่แค่ว่าอ่านแล้วก็แบบฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็จะเหมือนที่บอกแต่แรก คิดบวกต้องเป็นกระบวนการ คิดแล้วลงมือทำอย่างเต็มที่ด้วย”

ท้ายสุดฝากถึงน้องๆ ทุกคน “มาเจอน้องๆ ในวันนี้นะคะก็ประทับใจค่ะเพราะว่าเราผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมานานมากแล้วก็ดีใจที่เห็นน้องๆ มีความตั้งใจที่ดีนะคะ อยากจะเรียนในสาขาที่ได้ช่วยคนก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ขอให้เก็บความตั้งใจเอาไว้และมุ่งมั่นไปให้ถึงฝันทุกคนค่ะ แต่การตั้งใจเรียนก็อย่าเครียดมากเกินไป เราต้องรู้จักมีทั้งเรียนและก็เล่นด้วย ถ้าเกิดเครียดก็ต้องหาคนปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูเพื่อนหรือว่าคุณพ่อคุณแม่ ทุกคนพร้อมรับฟัง อีกอย่างทุกอย่างมีทางออก อดทน สร้างกำลังใจให้ตัวเอง แล้วไปถึงเป้าหมายให้ได้นะคะ”

ด้านนักศึกษาใหม่ของ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ปีการศึกษา 2566 ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความรู้สึกในวันนี้

นางสาวพนิดา ดาววง นักศึกษาทุนจาก สปป.ลาว หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี

“วันนี้ได้เพื่อนใหม่เยอะเลย และได้ฟังพี่หมอเจี๊ยบพูดได้รับความรู้หลายๆ อย่างเลยค่ะ รวมถึงแรงบันดาลใจด้วย ส่วนที่เลือกเรียนพยาบาลนั้นก็เพราะว่าที่บ้านเปิดคลินิกค่ะ คุณพ่อเป็นหมอ คุณแม่เป็นผู้ช่วยฯ แล้วส่วนตัวก็เป็นผู้ช่วยของพ่อ แบบช่วยหยิบจับอะไรเล็กๆ น้อยๆ จนตัวเองรู้สึกว่าการเป็นพยาบาลนั้นน่าสนใจ สามารถช่วยเหลือคนได้หลากหลายรูปแบบ ที่มาศึกษาที่นี่มีเป้าหมายอยากเป็นอาจารย์พยาบาลที่ประเทศของตัวเอง อยากส่งเสริมความรู้ของหนูให้น้องรุ่นต่อๆ ไป”

นางสาวกนกเกตุ เลาห์ทวี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

“วันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีค่ะ ได้มาเจอเพื่อนในปีการศึกษา 2566 เพื่อนใหม่ในทุกๆ สาขาในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นะคะ แล้วก็ได้มาฟังประสบการณ์ของหมอเจี๊ยบ รู้สึกดีค่ะ ส่วนตัวหนูชอบด้านสุขภาพอยู่แล้ว คิดว่าหลักสูตรนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ในระดับปริญญาตรี ด้วยความเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เราก็จะได้เรียนด้านสุขภาพที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วก็ได้เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รู้สึกว่าในอนาคตเรื่องดิจิทัลหรือว่าเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์น่าจะมาแรง แล้วก็มีประโยชน์มากๆ ในสาขาที่เรียนก็ได้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตัวหลักสูตรเน้นพื้นฐานในการนำข้อมูลต่างๆ ที่ค่อนข้างเยอะมากในโรงพยาบาลมาปรับใช้ แล้วก็มาพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขอีกด้วย”

นายธรพจน์ พจน์พิพัฒน์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2563 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

“ผมรู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เจอเพื่อนๆ จากหลายสาขาวิชาแล้วก็รู้สึกประทับใจมากๆ ที่ได้มางานนี้เพราะว่ามันเป็นการที่เราได้ Network กันแล้วก็ Connect กับเพื่อนๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้วย ตัว N Networking ว่าด้วยเครือข่ายความร่วมมือ เพราะอยู่ด้วยกันหลายหลักสูตร การสร้างมิตรภาพความเชื่อมโยงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าเวลาทำงานร่วมกัน ด้านแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ เนื่องจากพ่อแม่ผมก็มีโรคประจำตัว หากได้เจอผู้ป่วยที่ท้อแท้ไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็อยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ในวินาทีที่มันไม่ดี อยากมาเรียนสั่งสมความรู้ แล้วก็นำไปต่อยอดเพื่อที่จะรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัดห่างไกล ยังเข้าถึงการรักษาได้อย่างยากลำบากซึ่งมีอยู่อีกมาก”

ที่มา: พีอาร์ มงกุฏเพชร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ