“ศิลปากร” ยุคใหม่ ก้าวข้าม 80 ปี ชูยุทธศาสตร์ 4 สร้าง เป็น 4 เสาหลัก พร้อมดัน QS Star Ranking สู่มหาวิทยาลัย ระดับนานานาชาติ 5 ดาว
ก้าวข้ามผ่านปีที่ 80 มาอย่างสง่างาม ไปเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ถึงเวลาปักหมุด โรดแมป ม.ศิลปากร ยุคใหม่ เน้นผลลัพธ์มุ่งสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ ระดับโลก นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดี พร้อมคณะทีมผู้บริหาร ที่จะช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อให้ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในทุกด้าน ตอบโจทย์ เพื่อชุมชนและสังคมดี มีรายได้ ให้คุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นทั้งจุดเริ่มต้น จุดที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงสร้างจิตสำนึกที่ดี เพื่อทำประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมีการนำพาให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์ บูรณาการศาสตร์ และศิลป์ เพื่อความผาสุกของสังคมอย่างยั่งยืน โดยตัวเป้าหมายของวิสัยทัศน์ เราจะมุ่งสู่การยกระดับมหาวิทยาลัย สู่ระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง QS Star Rating ปัจจุบันเราได้ 5 ดาว ใน 4 ด้าน เราจะยกระดับเป็น 5 ดาว 5 ด้านครับ และเรื่องสำคัญก็คือ เรื่องการติด QS World Ranking ในสาขา Arts and Design ซึ่งเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากรเรา ตลอดจนการที่จะยกระดับ การบูรณาการทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยต่างๆ หรือ บริการวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ และศิลป์ โดยเราจะยกระดับให้เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้นในอนาคต อันนี้ก็คือเป้าหมายหลัก ทั้งนี้ ในการทำงานของเราจะมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ก็คือ ยุทธศาสตร์ 4 สร้าง ได้แก่ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างคุณค่าและมูลค่า ตลอดจนสร้างสุดท้ายก็คือการ สร้างความยั่งยืน
เรื่องแรกการสร้างคน เราจะดูเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวหลักสูตร ของนักศึกษา การพัฒนานักศึกษา ตลอดจน การยกระดับ ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่ 2 คือการสร้างองค์ความรู้ จะเพิ่มปริมาณของผลงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นผลงานตีพิมพ์หรืองานสร้างสรรค์ ตลอดจน ยกระดับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้เพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญ ก็คือการที่เรา จะพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยโลก เราก็จะต้องมีการยกระดับ QS World Ranking โดยเฉพาะสาขาของ Arts and Design ซึ่งเน้นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในเรื่องที่ 3 ก็คือการสร้างคุณค่า และมูลค่า ส่วนนี้ เราจะใช้ศักยภาพสำคัญของมหาวิทยาลัย ก็คือการ บูรณาการศาสตร์ และศิลป์ มายกระดับการทำงานไม่ว่าจะเป็นการบริการ วิชาการสู่ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้หลักการของ Creative Economy ที่จะมายกระดับตรงนี้ ดังนั้น สิ่งที่เกิด จะเป็นศูนย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Arts and Design Center ที่จะดูแลงานบริการวิชาการ ดู Database ทางด้านศิลปะ ต่างๆ ของประเทศ ก็จะมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ของเรา
นอกจากนี้ เราก็จะมีการสร้างจุดสุดท้าย เรื่องที่ 4 คือ สร้างความยั่งยืน การสร้างความยั่งยืนตรงนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับการ บริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ ด้วยระบบธรรมาภิบาล การบริหารเพื่อความเป็นเลิศ และการบริหารเพื่อให้คล่องตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในการพัฒนา เราจะใช้ ระบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็น การที่เราอาจจะต้องดูผลลัพธ์เป็นหลักในการทำงาน อาจจะใช้ Out Source มาช่วยในเรื่องที่เรายังไม่ถนัด จะมีการพัฒนาแผนต่างๆ ที่จะมาตอบสนองกับวิสัยทัศน์ ผมก็จะใช้หลักการนำทีมในรูปแบบของ Servant Leadership ก็คือการเป็นผู้นำ ที่เป็นผู้รับใช้กับทุกๆ คนครับ ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงตัวผมได้ ตลอดจนผมก็จะเข้าใจการทำงานของทุกคน และพยายามแก้ปัญหา ตลอดจนที่จะรับฟัง และมาช่วยกันทำงาน ผมคิดว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะนำพามหาวิทยาลัยเราไปสู่วิสัยทัศน์ ที่ว่า เราจะเป็น มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์ บูรณาการศาสตร์ และศิลป์ เพื่อความผาสุกของชุมชน อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “โรดแมป และยุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กล่าวมานี้ หลักๆ จะเป็นเรื่องของการยกระดับการศึกษาในทุกมิติ ที่เชื่อมโยงเข้าหากัน เพื่อประโยชน์สูงสุด ของเยาวชนและนักศึกษาที่จะศึกษาต่อในทุกสาขาวิชา ให้สามารถบูรณาการทั้งศาสตร์ และศิลป์ เป็นองค์รวม กับมาตรฐานที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ ระดับโลก อยากให้ ทุกคนได้มาร่วมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากรไปด้วยกันนะครับ”
ได้ฟังวิสัยทัศน์ ของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ แล้ว บอกได้คำเดียวว่า “สุดยอด” เพราะการพัฒนาระบบการศึกษา โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย สามารถต่อยอดองค์ความรู้ อาชีพ รายได้ สู่สังคมได้ในวงกว้าง และด้วยความมุ่งมั่น ที่จะยกระดับ QS Star Rating สู่ 5 ดาว ใน 5 ด้าน ก็ยอดเยี่ยมมากๆ แม้จะเป็นงานหนักของมหาวิทยาลัย แต่เชื่อว่าผลลัพธ์นั้นทำได้แน่นอน ทั้งนี้ปลายทาง ก็เพื่อให้เยาวชนเราได้ศึกษาในสถาบันที่เป็นความภาคภูมิใจของไทยเรามายาวนานถึง 80 ปี ในเวอร์ชันที่พัฒนาดีขึ้นในทุกยุคสมัย และไปไกลถึงระดับโลก แม้ว่าวันนี้อาจไม่ได้เป็นทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน แต่ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยเราก็มีมหาวิทยาลัยคุณภาพติดอันดับโลกอยู่หลายแห่ง และหนึ่งในนั้น ก็คือมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง
ที่มา: มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์