“ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในฝัน” จาก CONNEXT ED Crowdfunding ซีพีเอฟส่งมอบโอกาสให้น้อง ๆ เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ
“ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในฝัน” แหล่งเรียนรู้ทดลองและปฏิบัติจริงของน้องๆโรงเรียนหนองนกเขียนสามัคคี อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่เกิดจากโครงการระดมทุนเพื่อการศึกษา CONNEXT ED Crowdfunding ของมูลนิธิสานอนาคตเพื่อการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ( CONNEXT ED)โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนในการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในฝัน ให้มีอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยและเพียงพอ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับโอกาสการเรียนรู้ด้วยการทดลองและปฏิบัติจริง นำไปสู่การต่อยอดความคิดและเติมฝันห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็ก ๆ ให้เป็นจริง
โรงเรียนหนองนกเขียนสามัคคี เป็นโรงเรียนขนาดกลาง ที่มีจำนวนนักเรียน 265 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อทำโครงการผ้าไหมมีชีวิต จากนั้นในปี 2564 เข้าร่วมโครงการระดมทุนเพื่อการศึกษา (Crowdfunding)พัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในฝัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเกษตรผสมผสาน
น.ส. สุกัญญา บุตรพรม หรือ คุณครูน้อง เป็นคุณครูผู้รับผิดชอบโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ผลจากที่นักเรียนมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การค้นคว้า ลงมือทำ ช่วยเสริมทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน พบว่านักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลาย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้จากประสบการณ์ ลองผิด ลองถูก มีทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบ มีทัศนคติที่ดี มีความสุข สนุกสานต่อการเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ กล้าพูด กล้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญ คือ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนใหญ่ๆ ในเมือง
“เรามองว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนในทุกระดับชั้น และโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนห่างไกล การที่เด็กๆ โรงเรียนหนองนกเขียนสามัคคี ได้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ได้ทดลองลงมือปฏิบัติ ทำให้เด็กโรงเรียนห่างไกล มีโอกาสได้เรียนและพัฒนาเต็มศักยภาพ ” คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ กล่าว ผลจากการได้เรียนรู้จากโครงการห้องวิทยาศาสตร์ในฝัน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติในวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่าระดับประเทศ (O-NET) โดยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 46.94 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.34 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 39.08 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศซึ่งอยู่ที่ 33.32
นอกจากนี้ ประสบการณ์และทักษะจากการเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลและเกียรติบัตรในการแข่งขันต่างๆ อาทิ รางวัลระดับเหรียญทอง กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทการทดลอง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมระดับกลุ่มลำพระเพลิง รางวัลระดับเหรียญทอง กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น
ด.ช.ภานุวัฒน์ สุริโย หรือ น้องโดนัท อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กล่าวว่า ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น ได้ทดลองทำจริง รู้สึกดีใจที่พี่ๆ ซีพีเอฟเ ข้ามาสนับสนุนโครงการระดมทุนเพื่อการศึกษา (Crowdfunding)ซึ่งโรงเรียนเราอยากได้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อที่นักเรียนมีโอกาสได้ลงมือทำจริง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการเรียนรู้และการนำไปใช้ได้ดีกว่าแค่อ่านหรือดูรูปจากในหนังสือเรียน
ด้าน ด.ญ. ปนัดดา สอดกิ่ง หรือน้องดา อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นประธานนักเรียน เล่าว่า นักรียนชั้น ม.3 จะได้เรียนและใช้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ค่อนข้างบ่อย หรือ สัปดาห์ละ 3-4 วัน เราได้ฝึกทดลองจริง ได้นำไปใช้งานได้จริง จากเดิมที่เราดูจากรูปในหนังสือ มีอุปกรณ์การทดลองไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ น้องดา ยังได้สะท้อนมุมมองในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อความสำคัญของการศึกษาว่า มีความสำคัญมากในการใช้ชีวิต เพราะถ้าไม่มีความรู้ อาจจะถูกเอาเปรียบ เกิดความเหลื่อมล้ำ และต้องขอบคุณพี่ๆซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนการศึกษาด้วยการระดมทุนเพื่อสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นการเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียมให้เด็กๆไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ไกลหรือในเมือง “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในฝัน” ส่งมอบโอกาสสู่น้องๆ ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นยกระดับการศึกษาของไทย ภายใต้โครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ที่มี ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนร่วมก่อตั้ง และสร้างโอกาสดีๆ ให้กับเด็กไทยเติบโตบนพื้นฐานของการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
ที่มา: เจริญโภคภัณฑ์อาหาร