ม.มหิดลผนึกกำลังจิตตปัญญา – SDGs เพื่อสังคมไทย และสังคมโลกที่ยั่งยืน

ม.มหิดลผนึกกำลังจิตตปัญญา – SDGs เพื่อสังคมไทย และสังคมโลกที่ยั่งยืน

“การทำสมาธิ” อาจได้เพียง “ความสงบชั่วครู่” ในขณะที่การจดจ่อเพื่อให้เกิด “ความตระหนักรู้” ถึง “เหตุ” และ “ผล” อาจนำไปสู่ “แสงสว่าง” หรือ “ทางออกของปัญหา” ได้ด้วย”ปัญญา” อย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จิตตปัญญา” หากได้นำไปประยุกต์ใช้กับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) จะยิ่งทำให้บรรลุภารกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลกได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น

คนรุ่นใหม่จะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “Internal Force” ซึ่งเป็น “ความตระหนักรู้” ที่สร้างขึ้นด้วยตัวเองจากภายใน ยิ่งได้รู้ตัวว่ากำลังถูกคุกคามด้วย”External Force” หรือภัยพิบัติจากการบริโภคเกินจำเป็นที่จะนำไปสู่อนาคตที่ขาดแคลนได้เร็วเพียงใด เชื่อว่าจะทำให้สามารถต่อชีวิตโลกให้ยืนยาวได้มากขึ้นเท่านั้น

มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้นำเอาหลักจิตตปัญญาศึกษา มาประยุกต์สู่การเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” สร้าง “สังคมแห่งการตื่นรู้” เพื่อสังคมไทย และสังคมโลกมานานเกือบ 2 ทศวรรษ โดยเริ่มจากการจัดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และฝึกอบรมเพื่อขยายแนวคิดดังกล่าวสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกระดับ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ มองว่า แม้ “จิตตปัญญาศึกษา” จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนงานวิจัย แต่เป็น “เครื่องมือ” ที่จำเป็นสู่ “การสร้างสมดุล” ในทุกสรรพสิ่ง

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบริหารโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการท่านปัจจุบัน ดำเนินงานโดยใช้หลักการ “น้ำซึมบ่อทราย” ที่เริ่มจากการปลูกฝังแนวคิด “จิตตปัญญาศึกษา”

จากจุดเล็กๆ ที่เป็นความร่วมมือภายในเครือข่ายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะทำให้ขยายออกไปในวงกว้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากก้าวสำคัญที่ผ่านมาซึ่งได้มีความร่วมมือกับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นส่วนงานต้นแบบแห่งการตื่นรู้(Mindfulness Campus) ก่อนขยายแนวคิดสู่ระดับจังหวัด

“จิตตปัญญาศึกษา” ก็คือการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตจนเกิดปัญญา ทำให้มองเห็นและเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงอย่างถูกต้อง คุณภาพจิตที่สำคัญ คือ “การดำรงสติ” “ความรู้ตัวเท่าทันตนเอง” อันเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้ผูกขาดด้วย “ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง” จิตที่ตื่นรู้ จำเป็นสำหรับทุกชีวิต ในทุกระดับจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงการเกิด “องค์กรแห่งการตื่นรู้” ที่สามารถสร้างขึ้นได้ จากการ “สร้างเครือข่าย” ที่ทำงานเชื่อมประสาน จนยกระดับสู่นโยบายที่ยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด

ด้วยหลักจิตตปัญญาศึกษา ไม่เพียงจะช่วย “ต่อชีวิตโลก” ให้พ้นภัยจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน สุขภาวะ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ แต่เป็นการสร้างมนุษย์ให้มี “คุณภาพจากด้านใน” เพื่อเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ที่จะดำรงอยู่ในท่ามกลางวิกฤติและเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อย่างเป็นสุขและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ เขียนข่าว ออกแบบและถ่ายภาพโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กรกองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ