คณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล ร่วมพัฒนางานวิจัยต้นแบบชุมชนร่วมพลัง ร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง

คณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล ร่วมพัฒนางานวิจัยต้นแบบชุมชนร่วมพลัง ร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมเวทีสาธารณะ “แผนงานวิจัย ต้นแบบชุมชนร่วมพลัง ร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์และผู้อำนวยการแผนการวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุม

นางสาวกอบกุล กวั่งซ้วน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวชี้แจงนโยบายการรองรับสังคมผู้สูงอายุ และผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี นำเสนอผลการวิจัยแผนงานชุมชนต้นแบบร่วมพลังร่วมใจ รองรับสังคมผู้สูงวัยเขตเมืองและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการลดช่องว่างระหว่างวัย โดย อาจารย์ ดร.ทองสวย สีทานนท์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัทนียา กายแก้ว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดร ด้านการพัฒนาผู้ดูแลและระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และด้านการสร้างทักษะอาชีพและด้านเศรษฐกิจผู้สูงอายุ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ แก่งอินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณรัตนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย อ.ดร.บุรเทพ โชคธนานุกูล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

การประชุมในวันนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมจันทนา นิลวรางกูร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ประธานชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ครูแกนนำ ผู้ปกครอง ผู้จัดการบริษัทเอกชน พนักงานภาครัฐรวมทั้งสิ้น 41 คน

โครงการความร่วมมือ “แผนงานวิจัย ต้นแบบชุมชนร่วมพลัง ร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง” เป็นความร่วมมือกัน ระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมกิจการผู้สูงอายุ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ชุมชนวัดวิเศษการ-วัดฉิมทายกาวาส ชุมชนประสานมิตร ชุมชนร่วมเกื้อ สำนักงานเขตการปกครองพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุและเยาวชน ในด้านการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมสูงอายุ การลดช่องว่างระหว่างวัย การพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุและการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับชุมชนสองวัย ด้วยทักษะทางด้านวิศวกรรม การจัดการด้านการเงินและการออม และเพื่อสร้างกลไกสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของคนทุกวัย รวมถึงการพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมในการดูแลตนเองเพื่อเตรียมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ที่มา: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ