ม.อ. ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยสนับสนุน EV เป็น New S-Curve เปิดศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ‘PSU-EV’ แห่งแรกของภาคใต้ ปั้นบุคลากร รับแนวโน้มอุตฯ เติบโตก้าวกระโดด

ม.อ. ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยสนับสนุน EV เป็น New S-Curve เปิดศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ‘PSU-EV’ แห่งแรกของภาคใต้ ปั้นบุคลากร รับแนวโน้มอุตฯ เติบโตก้าวกระโดด

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ประเทศไทยมุ่งขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ EV เป็น New S-Curve เปิดศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า PSU-EV แห่งแรกทางภาคใต้ ชู พันธกิจมุ่งการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมแห่งยานยนต์ไฟฟ้า เปิดการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าระดับพื้นฐานถึงขั้นสูง หวังปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน รับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกพุ่งแตะ 45 ล้านคันภายในปี 2030

ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) นับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ม.อ.จึงเปิดศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาภายใต้ชื่อ “PSU-EV development center” ณ วิทยาเขตส่วนขยายตำบลทุ่งใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV ecosystem) ให้มีความเข้มแข็ง โดยเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้กับประเทศไทยในอนาคต

ศูนย์ PSU-EV development center เป็นโครงการเชิงรุกเพื่อพัฒนาและฝึกอบรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้พันธกิจมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนฝึกอบรมและการถ่ายทอดความรู้พร้อมการให้คำปรึกษา การให้บริการทดสอบ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานระดับสากล โดยเปิดอบรม-ถ่ายทอดความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในระดับพื้นฐาน อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์ประจุพลังงาน การดัดแปลงรถมอเตอร์ไซด์ มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ม.อ อยู่ระหว่างการเพิ่มหลักสูตรระดับขั้นกลางและขั้นสูง เพื่อเพิ่มทักษะให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดจนมีบริการเครื่องทดสอบสมรรถนะเชิงกลทั้งแบบสถิตและพลวัตร เครื่องทดสอบแบตเตอรี่ เครื่องบาลานซ์เซลล์ เครื่องเชื่อมแบตเตอรี่เครื่องความถี่สูง อีกทั้งยังได้สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สอดรับแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกของประเทศไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศก้าวสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 45 ล้านคัน ในปี 2030 จากการประเมินโดย International Energy Agency (IEA)

ที่มา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ