ทีทีบี ร่วมลงนาม 13 ภาคีจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมุ่งส่งเสริมทักษะและคุณธรรมเยาวชน ผ่าน “พิพิธภัณฑ์ครุฑ และศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ”
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ผนึกกำลังมูลนิธิทีทีบี ร่วมกับ 13 ภาคีในจังหวัดสมุทรปราการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนปฏิบัติการ ด้านการส่งเสริมทักษะ และคุณธรรมในกลุ่มเยาวชนเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ครุฑ และศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ เพื่อส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการให้รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรม และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เห็นคุณค่าของตนเอง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีศักยภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาตเปิดเผยว่า ในนามของธนาคารและตัวแทนมูลนิธิทีทีบี เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคม ตอกย้ำการขับเคลื่อนองค์กรตามแนวคิด Make REAL Changeล่าสุดได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 13 ภาคีในจังหวัดสมุทรปราการ โดยเกิดขึ้นจากความตั้งใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพเยาวชนให้ มีความรู้ คู่คุณธรรม เข้ากับยุคสมัย ทำประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ จากการปลูกฝังคุณค่าของตัวเอง และคุณค่าทางวัฒนธรรมในกลุ่มเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต โดยพิพิธภัณฑ์ครุฑจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม จากเรื่องราวคุณธรรมขององค์ครุฑ ที่ดำรงไว้ซึ่ง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม จนนำไปสู่การเป็นตราพระครุฑพ่าห์ ตราครุฑพระราชทาน มรดกทางวัฒนธรรมที่ธนาคารภาคภูมิใจ และหวังให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของประเทศชาติ เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน ที่รวบรวมและจัดแสดงองค์ครุฑพระราชทานกว่า 150 องค์ โดยอัญเชิญมาจากสาขาธนาคารกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ พร้อมทั้งสืบสานคุณธรรมขององค์ครุฑให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไป
พร้อมกันนี้ เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนไปสู่ “คนดี คนเก่ง คนมีคุณภาพ” เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมทักษะและคุณธรรมในกลุ่มเยาวชน โดยจะได้ส่งเสริมการสร้างแบบอย่างเยาวชนในโครงการ “เยาวชนคนต้นแบบความกตัญญู” โดยคัดเลือกเยาวชนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ดังนี้ 1. ซื่อสัตย์ สุจริต 2. กตัญญูกตเวที 3. หมั่นทำความดี มีจิตอาสา 4. มีวินัยปฏิบัติอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียนและสังคม และ 5. น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นแนวทางดำรงตนอยู่ในศีลธรรม บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ และเป็นต้นแบบความดีงามให้หมู่คณะได้เห็นแบบอย่างต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิทีทีบีในการปลูกฝังให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยมีศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ เป็นพื้นที่เรียนรู้ทักษะทางศิลปะ และทักษะการใช้ชีวิต (Art Skill & Life Skill) สำหรับเด็ก ๆ ในชุมชน ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี โดยสามารถสมัครเข้าเรียน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจุดประกายเยาวชนให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง และสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้ทั้งตัวเอง ผู้คนรอบข้างและสังคมได้ในอนาคต
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนปฏิบัติการ ด้านการส่งเสริมทักษะและคุณธรรมในกลุ่มเยาวชน เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ครุฑ และศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ ได้รับความร่วมมืออันดีจาก 13 ภาคีความร่วมมือในจังหวัดสมุทรปราการ ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 1. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ 2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรปราการ 3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 5. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสมุทรปราการ 6. สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสมุทรปราการ 7. สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสมุทรปราการ 8. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ 9. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรปราการ 10. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรปราการ 11. สำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ 12. วิทยาลัยทองสุข และ 13. องค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามแนวทางพระพุทธศาสนา
“ทีทีบี รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หลายองค์กรเห็นความสำคัญของเยาวชน และมุ่งหวังให้ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นจุดประกาย เพื่อส่งเสริมทักษะและคุณธรรมในกลุ่มเยาวชนให้มีความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตนโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้ตนเอง ผู้คนรอบข้างและสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต” นางสาวมาริสา กล่าว
ที่มา: ชมฉวีวรรณ