ม.วลัยลักษณ์ จับมือ กระทรวงวัฒนธรรมและวิทยาลัยนาฏศิลป์ MOU ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น ชาติและนานาชาติ
ม.วลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางในการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ และเพื่อให้ ม.วลัยลักษณ์เป็นศูนย์กลาง (Cultural Hub) ในการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้
ม.วลัยลักษณ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายศิวพงศ์ กั้งสกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติชัย รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง โดยมี นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาริสา ภูมิภาค ณ หนองคาย รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการกีฬา ม.วลัยลักษณ์ ลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน ชั้น 3 อาคาร A ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีหนึ่งพันธกิจที่สำคัญ คือ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลาง หรือ Cultural HUB ในการขับเคลื่อนงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการศึกษาวิจัยจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ การสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคดิจิทัล โดยมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โบราณสถานตุมปัง โดยมุ่งหวังว่าอาคารแห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต มีการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ นำไปสู่การสร้างคุณค่า พัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่า ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอนาคต
ด้านนายโกวิท ผกามาศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีแนวคิดในการส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับ ม.วลัยลักษณ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง เพื่อขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม การวิจัยและจัดการความรู้ด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินท้องถิ่น ในการดำเนินงานทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยนาฏศิลป เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงยังได้มีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ให้คงอยู่
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติเพื่อการธำรงรักษา สืบสาน เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำถิ่น หรือการพัฒนา ต่อยอด และสร้างคุณค่าใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมืองานวิชาการศิลปะและวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติและเพื่อให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนงานศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี
โดยแผนปฏิบัติของการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่จะดำเนินการทันทีในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2) การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเสนอต่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 3) การสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์ และชุมชนท้องถิ่น ในลักษณะเชิงพื้นที่ (Area Based) เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่คนในชุมชน และ 4) การเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์