ม.มหิดลบ่มเพาะ ‘ผู้นำสังคม’ สู่การสร้าง ‘นวัตกรรม=พลังสังคม’ ด้วย ‘ปัญญา’
โลกยุคใหม่ท้าทายด้วยโจทย์ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องคอยบ่มเพาะ “ผู้นำสังคม” ให้ถึงพร้อมด้วย “ปัญญา” เพื่อนำไปสู่ “นวัตกรรม = หนทางแก้ไข”
ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน จึงได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (หลักสูตรพหุวิทยาการ) ให้เป็น”แหล่งบ่มเพาะ” ผู้นำสังคมด้วยการ”ติดอาวุธทางปัญญา” ให้กับผู้เรียนทั้งบุคคลทั่วไป (Upskill & Reskill) และนักศึกษาปริญญาโทสามารถนำองค์ความรู้จากการคิดใหม่ทำใหม่ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป ตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณาประยุกต์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาภูมิภาค และประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น(หลักสูตรพหุวิทยาการ) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วย”การคิดเชิงระบบ” (Systems Thinking) และ “กรอบคิดเติบโต” (Growth Mindset) จะทำให้ “ผู้นำสังคม” มองไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทาง
เป็นหลักตรรกะวิทยาศาสตร์ อันเป็นพลวัตร ที่มองด้วย “เหตุ” และ “ผล” ครอบคลุมทั้ง “ผลผลิต” “ผลลัพธ์” และ “ผลกระทบ” ถ้าผลไม่ดี ก็จะกลับมาเป็นเหตุใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่หากเรา “หยุด” มองปัญหา โดยไม่เป็น “ส่วนหนึ่งของปัญหา” แต่พยายามเป็นส่วนหนึ่งของการ “แก้ปัญหา” แล้วใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ไปทำให้เกิด “ประโยชน์สุข” จะสามารถ “ตัดวงจร” ของปัญหา สู่”หนทางแห่งปัญญา”
“ทักษะการคิดเชิงระบบและวิทยาศาสตร์สู่กรอบคิดการเติบโต” เป็นหนึ่งในรายวิชาของหลักสูตรฯ ที่ฝึกนักศึกษาโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้รู้จัก “การคิดเชิงระบบ” (Systems Thinking) ได้อย่างน่าสนใจ จากการที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ อาจารย์ผู้สอนของหลักสูตรฯ ได้นำ “เกมสามเหลี่ยมด้านเท่า” มาใช้ในการเรียนการสอน
ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใด หากคิดและวิเคราะห์โดยมองเห็น”ประโยชน์สุข” ทั้งของตนเองและผู้อื่น ก็จะสามารถบรรลุสู่ความสำเร็จที่มั่นคงได้ต่อไปไม่ยาก เช่นเดียวกับการสร้างสามเหลี่ยมด้วยการช่วยกันคิดวิเคราะห์ จะทำให้ได้ด้านที่เท่ากันมาบรรจบกันเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ในเวลาไม่นาน
นอกจาก “ทักษะการคิดเชิงระบบและวิทยาศาสตร์สู่กรอบคิดการเติบโต” ที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการค้นพบ “หนทางลัด” สู่การสร้าง”พลังสังคม” ที่ยั่งยืนแล้ว หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น(หลักสูตรพหุวิทยาการ) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้รับการออกแบบให้นักศึกษาได้เรียนรู้ตามรอย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จาก “ศาสตร์พระราชา” ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้เป็น “ที่พึ่ง” ได้ในทุกช่วงเวลาของทุกชีวิต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์(ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กรกองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ภาพโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล