ม.มหิดลเปิดบริการ’HeaRTS’ส่งนักกายภาพบำบัด-กิจกรรมบำบัดดูแลผู้รับบริการถึงบ้าน

ม.มหิดลเปิดบริการ’HeaRTS’ส่งนักกายภาพบำบัด-กิจกรรมบำบัดดูแลผู้รับบริการถึงบ้าน

“คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล” นอกจากทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการบริการเพื่อประชาชนและชุมชน โดยมี “ศูนย์กายภาพบำบัด” ศักยภาพสูงถึง 2 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดีเยี่ยมจาก “สภากายภาพบำบัด” เป็นศูนย์ฯ ภายใต้คณะกายบำบัดแห่งแรกในประเทศไทยสามารถดูแลผู้รับบริการได้อย่างมีมาตรฐาน

ปัจจุบัน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายบริการสู่ช่องทาง “HeaRTS” (HealthCaRe Tele-delivery Service) พร้อมส่งนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญให้บริการดูแลผู้รับบริการถึงบ้าน(HeaRTS@Home) เริ่ม 1 กรกฎาคม 2566 นี้

รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ที่จะนำพาคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวขึ้นสู่ระดับเอเชียด้านกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด จากประสบการณ์รับใช้สังคมไทยมานาน 58 ปี ให้บริการชุมชนโดยรอบด้วยความทุ่มเท พร้อมพัฒนาและการบูรณาการ งานวิจัยและวิชาการ และการให้บริการจนมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการที่จะนำ”HeaRTS” ไปเป็นต้นแบบให้บริการ

ในทางกายภาพบำบัด การรักษาด้วย “การสัมผัส” ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชัน “HeaRTS” เชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้มองไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการจาก “HeaRTS” เพื่อดูแลพนักงานให้ห่างไกลจาก “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome)

ซึ่งในส่วนของภายในมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทดลองดูแลนำร่องแล้วในบางส่วนงาน และเตรียมขยายผลสู่ภาครัฐ และภาคเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง พร้อมมีแผนขยายเพิ่มเติมผ่านการเบิกจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

โดยในช่วงแรกจะเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยเดิม ผู้ป่วยใหม่ของ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วจึงจะขยายให้กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสัมผัส “HeaRTS” กันได้โดยทั่วถึง

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาความก้าวล้ำของ “HeaRTS” ในส่วนที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากDCU (Digital Convergence University) และโครงการMahidol Incubation Program

HeaRTS เป็นหนึ่งในทีมที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจและกลไกนี้ นับเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 62 ของโลกด้านนวัตกรรม (Innovation) ในการจัดอันดับโดย Time Higher Education Impact Rankings 2023 for SGGs ที่เพิ่งได้รับการประกาศเมื่อเร็วๆ นี้

เนื่องด้วย “HeaRTS” สร้างสรรค์ขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ” ที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เน้นให้บริการประชาชนเป็นหลักสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยในการสนับสนุนรูปแบบการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้มีความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ HeaRTS ได้ร่วมกับบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด(SIVITT – Siriraj Vittayavijai) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อออกแบบการให้บริการผ่านระบบโลจิสติกส์ภายใต้ความเหมาะสมในเชิงสังคม

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทศิริราชวิทยวิจัย จำกัด (SIVITT – Siriraj Vittayavijai) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ “ศิริราชมูลนิธิ” ว่า ด้วย “ต้นทุนทางนวัตกรรม” ที่สูงด้วยเทคโนโลยีของศิริราชวิทยวิจัย ถือเป็นการตอบโจทย์การให้บริการต่อสังคมในการนำผลงานนวัตกรรมและนวัตกรรมงานวิจัยไปใช้งานได้จริง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจสู่ผู้ป่วยคนไทย

โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุน “HeaRTS” ให้บรรลุเป้าหมายในการให้บริการที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

ดำเนินการผ่านระบบโลจิสติกส์ และลูกค้าสัมพันธ์โดยSIVITT ที่พร้อมเปิดให้บริการส่งนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญให้บริการดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งอยู่ในภารกิจงานบริการ นอกเหนือจากภารกิจงานวิจัยทางคลินิกของ SIVITT

และเชื่อมั่นว่าจะทำให้แอปพลิเคชัน “HeaRTS” จัดบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริการ โดยสามารถนัดจองเวลานักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญพร้อมชำระค่าใช้จ่ายที่รวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าบริการ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่าเดินทาง โดยมีขอบเขตให้บริการภายในรัศมี 20 กิโลเมตร นับจากที่ตั้งของคลินิกกายภาพบำบัด ทั้งที่ศาลายา และปิ่นเกล้า ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพโดย คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ