ม.มหิดล-จ.นครปฐมร่วมสร้าง ‘เมืองดนตรียูเนสโก’ เพื่อความยั่งยืนที่ยืนยาว
ด้วยประสบการณ์อันยาวนานที่ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เติบโตเป็น “สถาบันดนตรีระดับโลก” Top 50 World Ranking และจะทำให้จังหวัดนครปฐมในปัจจุบันได้เป็น “ศูนย์กลางของการศึกษาดนตรีในระดับนานาชาติ” (International Hub for Education)
ตลอดจนพร้อมเติบโตสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านดนตรีระดับโลก” ต่อไปในฐานะ “เมืองดนตรียูเนสโก” ที่จะสร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวนครปฐมและชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อความยั่งยืนที่ยืนยาว
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึง “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ที่สอดแทรกอยู่ในทั่วทั้งจังหวัด นับตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต (Way of Life) ของผู้คนในจังหวัดนครปฐม โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำให้ต้นทุนทางวัฒนธรรม “เพิ่มค่า”
จากการใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ด้วยการ “พัฒนาสุขภาวะของสังคมด้วยดนตรี” จากการจัด”กิจกรรมดนตรีบำบัด” ในหลากหลายรูปแบบ เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง อาทิ โครงการดนตรีบำบัดสำหรับผู้สูงวัยเพื่อลดความเครียด รู้สึกปลอดภัย และพร้อมปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้การจะทำให้จังหวัดนครปฐมเป็น “ศูนย์กลางของการศึกษาดนตรีในระดับนานาชาติ” (International Hub for Education) จะต้องพร้อมด้วย “ต้นทุนเดิมทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่แล้วภายในจังหวัด
นอกจาก “เพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ซึ่งมาจากศิลปินแห่งชาติ”แม่ศรีนวล ขำอาจ” ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันเพลงพื้นบ้านภาคกลางให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว จังหวัดนครปฐม ยังมีที่ “ต้นทุนเดิมทางโครงสร้างพื้นฐาน” ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์จากการร่วมแรงร่วมใจกันบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างระบบนิเวศ (Eco System) ที่ยั่งยืน
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ได้แสดงจุดยืนถึงความมุ่งหมายในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และได้ให้มุมมองต่อการพัฒนานโยบายขับเคลื่อนสู่เมืองดนตรีฯ ว่าจะต้องไม่เป็นสร้าง “ภาระด้านงบประมาณ” ให้กับจังหวัด เพื่อให้เพียงพอที่จะนำไปพัฒนาเมืองในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปกับ “การใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์”
และเพื่อให้สังคมโลกได้มองมาที่ประเทศไทยในด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ อารยธรรม และศิลปะ ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจังหวัดนครปฐม ได้สร้าง “ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมดนตรี” ให้เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐม ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เปลี่ยน “งานเลี้ยง” ให้เป็น “การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรี” ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “ต้นแบบ” ให้ชาวโลกได้มองเห็น และมีความคิดที่จะจัดงานงานเฉลิมฉลองภายใต้แนวคิดเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเช่นกัน อาทิ การจัดงานฉลองวันชาติของประเทศอิตาลี รวมทั้งประเทศอื่นๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐตุรกี และสาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ ที่ได้ให้ความสนใจแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน
โดย สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งวงออร์เคสตร้าจีน(Chinese Tradition Orchestra) และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ส่งวงฮ่องกงฟีลฮาร์โมนิก (Hong Kong Philharmonic) มาแสดงที่ประเทศไทยในเวลาต่อมาอีกด้วย
และในเร็วๆ นี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการดนตรีในระดับนานาชาติ จากการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม International Double Reeds Conference 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 กรกฎาคม 2566 เพื่อพร้อมรับประสบการณ์ใหม่จากนักดนตรีระดับโลก และผู้ร่วมงานจากต่างชาติกว่า 1,000 คน ที่จะมาร่วมกัน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดนครปฐมต่อไปอีกด้วย
ด้วยความเจริญรุ่งเรือง และวัฒนธรรมสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าของเมืองนครปฐม เชื่อมั่นว่าจะนำพาขับเคลื่อนสู่”เมืองดนตรียูเนสโก” และนำพาสู่สังคมยั่งยืนที่ยืนยาว ด้วยพลังแห่งความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม และชาวไทยทุกคน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ภาพจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล