ม.มหิดล-ICL สหราชอาณาจักร ‘ติดกระจกส่องโรค NCDs’ ติดตามจากการเจริญเติบโตของเด็ก
ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องประสบกับปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องสูญเสียทรัพยากรเพื่อการดูแล และรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาล และกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายนักวิจัยจากทั่วโลก สู่การค้นหาหนทางเยียวยาปัญหาที่คอยคุกคามประชากรโลกดังกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชัย เอกพลากร อาจารย์แพทย์นักวิจัยประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London – ICL) และนักวิจัยทั่วโลกเกือบ 200 ประเทศ ติดตามการเจริญเติบโตในเรื่องความสูงและดัชนีมวลกายของกลุ่มตัวอย่างเด็กวัยเรียน – วัยรุ่น อายุประมาณ 5 – 19 ปีจำนวนกว่า 70 ล้านคนอย่างต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มเด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าในเด็กในชนบทเริ่มลดน้อยลง
นั่นคือเด็กมีความสูงและอ้วนในเมืองและชนบทใกล้เคียงกัน เนื่องจากลักษณะชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของคนในเมือง และชนบทเริ่มใกล้เคียงกัน
จากการติดตามเก็บข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2533 – 2563 แสดงผลซึ่งเปรียบเสมือนการ “ติดกระจก” สะท้อนให้เห็นปัญหาการเจริญเติบโตของเด็กทั่วโลกว่า มีความสอดคล้องกับรายได้ของประชากร โดยใน “ประเทศที่มีรายได้ต่ำ” มักพบปัญหา “เด็กเตี้ย” มากกว่า “ประเทศที่มีรายได้สูง” สาเหตุสำคัญจาก “การเข้าถึงคุณภาพของอาหาร” ซึ่งแตกต่างกันไปตามเศรษฐานะของแต่ละครอบครัว
ในขณะที่เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างในเมืองและในชนบท พบว่า “เด็กในเมือง” มีแนวโน้มอยู่ใน “ภาวะอ้วน” มากกว่า “เด็กในชนบท” เนื่องจากส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดการออกกำลังกาย สาเหตุเพราะต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด รวมทั้งต้องใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ
ทั้งหมดนี้มีรายงานอยู่ในวารสารวิชาการระดับ Top1% ของโลก “Nature” สำหรับประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” แม้พบว่าในปัจจุบันเด็กไทยสูงมากขึ้น จากนโยบายส่งเสริมโภชนาการในเด็กวัยเรียนของชาติที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบความเสี่ยงต่อการมี “ภาวะอ้วน” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น จากการดำเนินชีวิตที่ยัง “ขาดความรู้ความเข้าใจ” ที่เพียงพอในเรื่องโภชนาการ และพึ่งพาเทคโนโลยีตามกระแสโลกจนขาดการเคลื่อนไหวทางกาย
โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชัย เอกพลากร มองว่า การส่งเสริมการออกกำลังกาย และการส่งเสริมโภชนาการสำหรับเด็กไทยในวัยเรียนยังคงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาพบเด็กไทยในวัยเรียนมีการออกกำลังกาย และบริโภค “นม” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของโปรตีนในปริมาณที่ยังไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตตามวัย
นอกจากนี้การดำเนินนโยบายของรัฐในการขจัดต้นตอปัญหาก่อโรค NCDs จากการเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของเด็กไทยควรทำอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่างในระดับชุมชน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล