เข้าใจตัวเองก่อนเรียนมหาวิทยาลัย เลือกอย่างไร คณะแบบไหนที่ใช่ใน TCAS

เข้าใจตัวเองก่อนเรียนมหาวิทยาลัย เลือกอย่างไร คณะแบบไหนที่ใช่ใน TCAS

อาจารย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ไข 16 คำถามยอดฮิตจากเด็ก TCAS 66 ให้หลักคิดเลือกเรียนคณะที่ใช่ ตรงกับใจและความถนัด เพื่อที่จะเรียนและใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข พร้อมแนะวิธีคุยกับผู้ใหญ่ให้เข้าใจเส้นทางการเรียนที่เลือก

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของน้องๆ นักเรียนหลายคน เนื่องจากเป็นช่วงที่เราจะต้องเตรียมตัวสอบเขามหาวิทยาลัย และค้นหาตัวเองว่าในอนาคตเราจะเลือกเรียนสาขาวิชาอะไรที่เราสามารถอยู่กับมันและใช้วิชาความรู้เหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้ สำหรับน้องๆ ที่มีสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยในฝันแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องพยายามเพื่อทำให้ความฝันของเราเป็นจริง

แต่เชื่อว่ายังมีน้อง ๆ อีกหลายคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่อที่คณะหรือมหาวิทยาลัยไหนดี มีคำถามมากมายที่วนเวียนอยู่ในใจ และยังคิดไม่ตกกับอนาคตข้างหน้า ในบทความนี้ จึงได้รวบรวมคำถามสำคัญ 16 ข้อที่น้อง ๆ ระดับมัธยมอยากรู้เกี่ยวกับแนวทางการเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.รับขวัญ ภูษาแก้ว หัวหน้าศูนย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม มาแนะนำข้อคิดดี ๆ เพื่อให้การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้มีส่วนช่วยให้นัอง ๆ เรียนและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข

1. เลือกคณะไหนดี? เลือกคณะที่ชอบ คิดแค่นี้พอไหม?

ก่อนที่จะเลือกคณะและสาขาวิชาเรียน เราควรตกผลึกและรู้จักตัวเองให้ดีพอสมควรก่อน เราไม่ควรดูแค่ความชอบอย่างเดียวเพราะความชอบหรือความสนใจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก ซึ่งหากใครยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกคณะใดดี หรือจะคิดอย่างไรให้ได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับความเป็นตัวเองที่สุด อาจารย์รับขวัญแนะข้อทบทวนตัวเอง 5 เรื่อง ได้แก่

1. ความชอบและความสนใจ หมายถึงสิ่งที่เราอยากได้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ หากเรารู้ว่าเราชอบหรือสนใจอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน ไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งจะทำให้เราอยากเรียนรู้และใส่ใจสิ่งนี้มากขึ้น

2. ความถนัด เป็นทักษะและความเชี่ยวชาญที่จะให้เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดผลงานที่ดี ความถนัดมีทั้งความถนัดเฉพาะทาง ความถนัดด้านวิชาการ อันเกิดมาจากการสั่งสมประสบการณ์ การฝึกทักษะของตนเองจนเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นทักษะพิเศษที่คน ๆ นั้นมี และจะไม่หายไป ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความสุขกับงานที่ทำ รู้สึกถึงความสำเร็จ รู้สึกว่าภูมิใจในสิ่งนั้น ๆ

ถ้าอยากเลือกสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องดูว่าตนเองถนัดวิชาวิทยาศาสตร์หรือไม่ ถ้าความชอบ ความสนใจกับความถนัดไปด้วยกันได้จะดีมาก หากมีความชอบและสนใจ แต่ไม่มีความถนัดในสาขาหรือวิชานั้น ๆ  อาจารย์ก็อยากให้ลองคิดดูใหม่ เพราะความชอบและความสนใจสามารถเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าให้เลือกระหว่างความชอบและความถนัด อยากให้มองที่ความถนัดมากกว่า เพราะความถนัดจะช่วยให้สามารถเรียนได้สำเร็จ ทำให้ไปต่อได้โดยไม่สะดุด ช่วยทำให้ต่อยอดได้มาก

3. ความสามารถ เป็นระดับสติปัญญา ทักษะการแก้ปัญหา ไหวพริบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สามารถดูได้จากผลการเรียน

ในการรับสมัครบางคณะจะมีการกำหนดเกรดขั้นต่ำหรือเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ หมายความว่า เกรดหรือคะแนนขั้นต่ำเป็นตัวการันตีว่าถ้าได้เกรดหรือคะแนนเท่านี้นักเรียนจะสามารถเรียนคณะนี้ได้สำเร็จ เพราะความสามารถเป็นสิ่งที่ทดสอบได้ด้วยสติปัญญา ดังนั้น ทางคณะต่าง ๆ จึงดูความสามารถเบื้องต้นจากผลการเรียน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถตอบได้ว่าระดับสติปัญญาและความสามารถของผู้เรียนอยู่ในระดับใด อีกทั้งยังบ่งบอกความรับผิดชอบของเราตอนที่เป็นนักเรียนด้วย อาจารย์เคยมีประสบการณ์ที่มีนักเรียนที่อยากเรียนคณะหนึ่งมาก ๆ แต่สอบปีแล้วปีเล่าก็ไม่ได้ ก็อาจหมายถึงความสามารถยังไม่ถึง เราควรเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับเรา เหมาะสมกับเรามากกว่า

4. บุคลิกภาพ เป็นตัวตนของเราที่สอดคล้องกับคณะวิชาหรืออาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ ร่างกาย จิตใจ นับเป็นกลุ่มบุคลิกภาพทั้งหมด

เราจะต้องศึกษาว่าคณะวิชาหรืออาชีพที่เราสนใจเข้ากับบุคลิกภาพและตัวตนของเราหรือไม่  คนเรียนคณะนี้หรือทำอาชีพนี้ต้องเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา หรือคนที่เรียนคณะวิชานี้ต้องเป็นคนที่สามารถอ่านหนังสืออยู่กับตำรานาน ๆ ได้ ตัวอย่าง บางคนกลัวแดด ไม่ชอบออกข้างนอก แต่ไปเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จะต้องออกทะเลลงพื้นที่กลางแจ้งบ่อย ๆ คณะหรืออาชีพนั้นก็จะไม่ถูกกับบุคลิกภาพตัวเอง

5. ความหลงใหล (Passion) เป็นความรัก ความทุ่มเทกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันให้คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ อาจจะเป็นความฝันตั้งแต่ยังเด็กว่าเราอยากเรียนหรือทำอาชีพนี้

หากน้อง ๆ มีคำตอบในเรื่องความชอบ ความถนัด ความหลงใหล ความสามารถ และบุคลิกภาพ ครบทั้ง 5 ข้อ ก็จะดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เราชัดเจนว่าเราเหมาะสมกับคณะวิชาใด แค่ไหน และทำให้เรามั่นใจกับคณะที่ตัดสินใจเลือกมากขึ้น แต่หากเรามีคำตอบไม่ครบทุกข้อ อย่างน้อยก็ควรจะมากกว่า 3 ใน 5 ข้อข้างต้น เพื่อที่เราจะได้เรียนคณะที่ชอบ ถนัด และอยู่กับมันได้

นอกจากข้อพิจารณาทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ปัจจุบัน ก็มีแบบทดสอบ แบบประเมินและแบบสำรวจทางจิตวิทยามากมาย ที่จะช่วยเราประเมินความชอบ ความสนใจในกลุ่มอาชีพ ความถนัดในคณะวิชา ขอให้ลองไปทำ ทำจากหลาย ๆ แหล่ง หลาย ๆ แบบ ซึ่งอาจไปขอได้จากครูแนะแนวหรือจากเว็บไซต์ด้านการศึกษา

สิ่งสำคัญคือ ขณะทำแบบทดสอบดังกล่าว ขอให้จริงใจกับตัวเองตอบตามที่ตัวเองรู้สึกจริง ๆ อย่าโกหกตัวเอง ไม่ใช้อคติ หรือคาดเดาแนวโน้มของคำตอบว่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ ก็จะเห็นความเป็นตัวตนของเราพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ไม่ได้ให้เราเชื่อ 100% แต่เป็นการทำเพื่อให้เราได้กลับมาถามตัวเองว่า “มันใช่เราไหม” ขณะเดียวกันให้ลองพูดคุยสอบถามกับคนใกล้ตัวด้วย เช่น เพื่อน คุณพ่อ คุณแม่ ครูที่สนิท ว่าตัวเราเป็นออย่างไร สอดคล้องกับบททดสอบทางจิตวิทยาหรือไม่ และตัวเราเองก็จะต้องสังเกตตัวเองด้วย แล้วเอาข้อมูลรอบด้านทั้งหมดนี้มาประกอบกัน

2. มีไหม? คณะวิชาแบบไหนที่ไม่ควรเลือก

เพราะเราควรเลือกเรียนคณะที่สอดคล้องกับตัวตนของเรามากที่สุด ดังนั้น คณะที่เราไม่ควรเลือกก็คือคณะที่ไม่สอดคล้องกับตัวเรา และเราไม่ควรเลือกเรียนคณะด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

X ไม่เลือกคณะตามเพื่อน

X ไม่เลือกตามที่คุณพ่อคุณแม่สั่งหรือบอกให้เลือก โดยที่เราไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนโดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัย 5 ประการที่สอดคล้องกับตัวตนของเรา  

X ไม่เลือกคณะที่คนอื่นว่าดี แต่ตัวเราเองไม่รู้จักหรือไม่เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนั้นมาก่อน

X ไม่เลือกเพราะคะแนนเราดีหรือคะแนนของเราถึง หรืออยากมีชื่อติดในคณะหรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

นอกจากความเป็นตัวตนของเราแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกคณะเรียนด้วย อาทิ ค่าใช้จ่าย

แม้ว่าเราจะสอบติด แต่ถ้าครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนได้ เพราะค่าเล่าเรียนสูงมาก โดยเฉพาะหลักสูตรอินเตอร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ โครงการพิเศษ ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะได้เข้าเรียน แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าถ้าพิจารณาดูแล้วว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะขอทุนและที่คณะมีทุนให้สำหรับนักเรียนผลการดีแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ให้สอบถามข้อมูลจากทางคณะก่อน แล้วค่อยสมัคร ต้องมั่นใจว่าตัวเองสามารถได้รับทุนนี้ ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเป็นการกันที่คนอื่นแล้ว ตัวเราเองก็จะเสียความรู้สึกด้วย เพราะเราสอบผ่านแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้เรียน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจรู้สึกผิดที่ส่งลูกเรียนไม่ได้ จึงไม่แนะนำให้เลือก

3. จริงหรือไม่? ได้เรียนคณะในฝันแล้วจะมีความสุข

มีทั้งจริงและไม่จริง หลายคนอาจจะรู้สึกว่าได้เข้าเรียนในคณะที่ชอบเป็นตัวเราที่ใช่แล้ว ทุกอย่างจะราบรื่นเป็นสีชมพู ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ถ้าเราได้เข้าคณะที่ชอบมาตลอดชีวิต แล้วมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วยคือมีความถนัด ความสามารถ และที่บ้านสนับสนุน อาจารย์เชื่อว่าเราจะเรียนได้อย่างมีความสุข เพราะคนที่ได้ทำในสิ่งที่ใช่ตัวเอง และได้ตัดสินใจเอง จะขับเคลื่อนตัวเองไปได้ดี แต่ในการเรียนก็เหมือนการใช้ชีวิต มีหลายอย่างที่อาจไม่เป็นดังใจ เราอาจจะต้องเจอเรื่องที่น่าเบื่อบ้าง ต้องมีวิชาที่ไม่ใช่ตัวเราบ้าง ต้องมีสิ่งที่ฝืนบ้าง เหนื่อยบ้างซึ่งเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.รับขวัญยังมีแง่คิดดีๆ อีก 13 ข้อที่นักเรียนวัยเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยมักจะสงสัยกัน สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.chula.ac.th/highlight/112848/

สุดท้ายนี้ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถดูรายละเอียดเกณฑ์การรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ ดังนี้

หลักสูตรภาษาไทย (TCAS) : http://www.admissions.chula.ac.th/
หลักสูตรนานาชาติ: https://www.chula.ac.th/program-degree/bachelor/

ที่มา:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ