ม.มหิดลจัดทำหลักสูตรดนตรีโลกออนไลน์ เตรียมพร้อมเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองโลก
“ดนตรี” สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “พลเมืองโลก” ในศตวรรษที่ 21 ได้มีการปฏิรูปการจัดการศึกษาดนตรีขึ้นแล้วในหลายประเทศ ขณะที่เด็กไทยยังคงเข้าถึงเนื้อหาของบทเรียนดนตรีพื้นฐานได้อย่างจำกัด “หลักสูตรโลกดนตรีโลกออนไลน์” จึงเป็นทางออกหนึ่งสู่การเตรียมพร้อมให้เด็กและเยาวชนไทยกับการก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำ”โครงการหลักสูตรดนตรีโลก (MPW-World Music Pedagogy) ออนไลน์ สำหรับจัดการศึกษาพื้นฐาน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเด็กไทย”
ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และต้นแบบวิชาการ “การสอนพหุวัฒนธรรมดนตรีและการสอนดนตรีโลก” ภายใต้ความร่วมมือในฐานะที่ปรึกษาจากProfessor Patricia Shehan Campbell ศาสตราจารย์ทางดนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน(University of Washington) สหรัฐอเมริกา
โดยการสร้างหลักสูตรจากการศึกษาและวิเคราะห์ ปรัชญาแนวคิด เนื้อหา และเทคนิคการสอน “ดนตรีโลก” และนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมสำหรับทำเป็นโมดูลออนไลน์สำหรับครูดนตรีของไทยให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
งานวิจัยนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนการสอนดนตรีที่ร่วมสมัยกับการพัฒนาการสอนระดับนานาชาติที่ให้ความสำคัญกับวิชาดนตรีในฐานะวิชาที่เป็นพื้นฐานของชีวิตและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อีกทั้งเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDG11 แห่งสหประชาชาติที่ว่าด้วยการพัฒนาชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ผ่านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมโลก เป้าหมายเพื่อการเตรียมพร้อมให้ครูดนตรีได้ส่งต่อไปยังเยาวชนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 สู่การเป็น “พลเมืองโลก” ในอนาคตที่พร้อมเปิดโลกทัศน์สู่การเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ผ่านหลักสูตรศึกษาดนตรีพื้นฐาน
โดยโครงการฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายครูดนตรีประถมศึกษากว่า300 คนทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมกิจกรรมและอบรมหลักสูตรนี้ไปแล้วในหลายจังหวัด
นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยมีความเหลื่อมล้ำในการได้รับการศึกษาด้านดนตรีถึงแม้วิชาดนตรีจะเป็นวิชาที่บรรจุอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่มาจากการไม่ปรับตัวของนโยบายการปฏิรูปการศึกษาดนตรีขั้นพื้นฐานให้ทันกับหลายๆ ประเทศ ขาดตำราที่เหมาะสมกับยุคสมัยขาดแคลนสื่อการสอนและเครื่องดนตรี ขาดแคลนครูดนตรีที่มีความเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรมศึกษา
และที่สำคัญหน่วยผลิตครูดนตรียังไม่ปรับตัวตามการจัดการเรียนการสอนดนตรีศึกษาให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ปฏิรูปการจัดการศึกษาดนตรีไปแล้วตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
โครงการฯ ยังได้เปิดอบรมให้กับครูดนตรีที่สอนอย่างต่อเนื่อง พร้อมคู่มือการสอน และจะขยายความร่วมมือและการดำเนินงานสู่ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
โดยเชื่อมั่นว่า การศึกษาดนตรีขั้นพื้นฐานของเด็กไทย จะต้องเป็นการศึกษาที่เปิดโลกกว้างให้ผู้เรียนได้เห็นและฟังดนตรีที่หลากหลายเพื่อเป็นการ “เรียนรู้คู่ชีวิต” ให้ดนตรีเป็นพื้นฐานของชีวิต และสามารถเลือกดนตรีที่เขาชอบได้เอง
เมื่อเขาเติบโต ทำอย่างไรให้สอนดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพลเมื่องทางวัฒนธรรม และพลเมืองโลก ที่มีทักษะและความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้ และสามารถรับมือกับความแตกต่างเหล่านั้น พร้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล