
วิศวะมหิดล ผนึกความร่วมมือไทย-เยอรมัน กับ ม.เทคนิคเบราน์ชไวก์ เดินทางดูงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 6 จุดหลักใน กทม.
คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย กลุ่มวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือและต้อนรับคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบราน์ชไวก์ (Technical University of Braunschweig) ประเทศเยอรมนี ในโอกาสเดินทางมาร่วมงานสัมมนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ไทย-เยอรมนี พร้อมศึกษาดูงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในกรุงเทพมหานคร และเข้าเยี่ยมสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาการศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมระบบราง การขนส่ง และโลจิสติกส์
รศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ มหาวิทยาลัยเทคนิคเบราน์ชไวก์ ประเทศเยอรมนี ได้จัด “งานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ไทย -เยอรมนี” ผสานความร่วมมือทางวิชาการและเปิดเวทีเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้มุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ รวมทั้งการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะของไทยในมุมมองผู้ใช้บริการชาวต่างชาติ โดยมุ่งเน้นข้อมูลเชิงลึกด้าน Traffic and Transportation Engineering
คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเทคนิคเบราน์ชไวก์ เข้าพบท่านเอกอัครราชทูต H.E. Mr. Georg Schmidt ณ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย โดยได้ร่วมหารือและรายงานการดำเนินงานความร่วมมือของทั้งสองสถาบัน อีกทั้งได้จัดเยี่ยมชมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และให้ข้อมูลการพัฒนาระบบรถไฟของประเทศไทย
พร้อมทั้งได้นำคณะจากแยอรมนีเดินทางไปศึกษาดูงานระบบขนส่งทางราง 6 จุดหลักของสถานีรถไฟของไทย ซึ่งประกอบด้วย สถานีกรุงเทพ สถานีกลางบางซื่อ จุดเชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อ สถานีตลิ่งชัน สถานีธนบุรี และสถานีศาลายา รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สนามบินดอนเมือง และ ทางด่วน MFlow อีกด้วย
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
