ม.มหิดลร่วมพัฒนา AI เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวทุกครั้ง ถือเป็นหน้าที่ของผู้เดินทางทุกคนที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับประเทศปลายทางในแง่มุมต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเดินทางอย่างถี่ถ้วน ซึ่งรวมถึงการเตรียมตัวด้านสุขภาพ ตลอดจนการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจต้องเผชิญ ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ใน “เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว” (Travel Medicine)
เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ “Thai Travel Clinic” คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทางโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ AI ในเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว
โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “Journal of Travel Medicine” ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และอยู่ใน Top 1% ของโลก ในฐานะผู้เขียนบทบรรณาธิการ หัวข้อ”Predicting the Natural History of Artificial Intelligence in Travel Medicine” ร่วมกับ Professor Gerrard Flaherty, MD, PhD จาก University of Galway สาธารณรัฐไอร์แลนด์
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ได้กล่าวถึงบทบาทการใช้ AI ในเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน AI ได้มีการพัฒนาศักยภาพไปจนถึงความสามารถในการแชร์และตรวจจับข่าวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ รวมถึงโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังโรคที่สัมพันธ์กับการเดินทางและท่องเที่ยว กับเครือข่าย “GeoSentinel Surveillance Network” ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวระดับโลก รวมมีสมาชิกเป็นสถาบันทางการแพทย์กว่า 70 แห่งจากทั่วโลก
โดยโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 หรือมากกว่า 15 ปี ซึ่งเครือข่ายนี้สามารถตรวจจับการระบาดของโรคต่างๆ และมีผลงานวิชาการตีพิมพ์มากกว่า 100 เรื่อง
ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทำให้โรคติดเชื้อจากมุมใดมุมหนึ่งของโลก สามารถแพร่กระจายไปในที่ต่างๆ ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เฝ้าระวังทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติผ่านเครือข่ายต่างๆ
นอกจากนี้ Social media รวมถึงสื่อต่างๆ ทาง internet มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสามารถทำให้ความรู้และคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัว และช่วยเฝ้าระวังภัยหรือโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวต้องพิจารณาให้ดีก่อนใช้ หรือเชื่อข้อมูลต่างๆ เพราะต้องแยกระหว่าง “ข่าวจริง” “ข่าวลวง” หรือ “ข่าวลือ” ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันวิชาการหลายแห่งใช้ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลดังกล่าว เช่นในโครงการ Healthmap.org
ในส่วนของประเทศไทยเอง “Thai Travel Clinic” หรือคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการเป็นสถาบันหลักในการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวซึ่งเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของโลกที่ผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขา Travel Medicine ในระดับ Board Certify
เชื่อมั่นได้จากการเป็น “ต้นแบบ” (role model) ผลิตแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก American Society for Tropical Medicine and Hygiene สหรัฐอเมริกา จนปัจจุบัน “Thai Travel Clinic” ได้รับการยกย่องถึงความเป็นเลิศในการฝึกปฏิบัติด้านดังกล่าวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ “Thai Travel Clinic” ยังได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (Master of Clinical Medicine) จากต่างประเทศ และได้ส่งนักศึกษาไทยไปเรียนรู้โรคเขตร้อนในต่างแดน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วศิน แมตสี่ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ “Thai Travel Clinic” คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทางโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน “Thai Travel Clinic” ยังได้ทำงานวิจัยร่วมกับ GeoSentinel Surveillance Network ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกมากมายหลายเรื่อง
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงต้องอาศัยฐานข้อมูลวิจัยด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวจากยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าหากเราสามารถสร้างฐานข้อมูลขึ้นเองสำหรับคนไทยและเอเชียเพื่อการเฝ้าระวังและรักษาที่ตรงจุด
ในปัจจุบัน “Thai Travel Clinic” ได้มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์เพื่อคงความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขยายบริการสู่ออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบทางไกล (Telemedicine) จ่ายยาทางไปรษณีย์ และนัดฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องพบแพทย์ซ้ำ พร้อมชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้ารับบริการ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง
โดยวัคซีนที่เปิดให้บริการตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว มีทั้งเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อเขตร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไปอาทิ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบJE โรคตับอักเสบชนิดเอและบี โรคไข้กาฬหลังแอ่น ฯลฯและโรคติดเชื้อเขตร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทางโดยต้องแสดงหนังสือเดินทางประกอบ อาทิ โรคไข้เหลืองเป็นต้น ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2306-9145 และ Facebook : Thai Travel Clinic
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล