กทม.เร่งติดตาม “พาน้องกลับมาเรียน” ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงแนวทางการติดตามความต่อเนื่องทางศึกษาของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.รวมถึงการป้องกันการเกิดปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนในรายวิชาต่าง ๆ ว่า กรุงเทพมหานครและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู โรงเรียน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรงบประมาณแบบมีเงื่อนไข และระบบการติดตามของโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้การช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส
จากความร่วมมือดังกล่าว กทม.และ กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ปีการศึกษา 2565 ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม.ได้เข้าร่วมโครงการและได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของนักเรียน เพื่อคัดกรองและนำเข้าข้อมูลการคัดกรองผ่านระบบคัดกรองทุนเสมอภาค รวมทั้งประเมินความยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (PMT) ที่พัฒนาขึ้นโดย กสศ.เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเด็กวัยเรียน ส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา รวมถึงป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยมอบทุนต่อเนื่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่ยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษา
ส่วนความคืบหน้าการติดตามค้นหานักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงปีการศึกษา 2564 – 2565 กทม.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในโรงเรียนสังกัด กทม.และคณะกรรมการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในโรงเรียนสังกัด กทม.ระดับกลุ่มเขต เพื่อจัดเก็บข้อมูลรายบุคคลและประสานเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสังกัด โดย สนศ.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่มีภาวะวิกฤตทางการศึกษา ตามโครงการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาและวางแนวทางให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ดำเนินการตามโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ดังนี้ (1) แต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานตามบริบทของสถานศึกษา (2) วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและออกกลางคันที่ได้รับแจ้งจากต้นสังกัด พร้อมกำหนดแผนและแนวทางการติดตามค้นหาผู้เรียนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง (3) ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด ลงพื้นที่ติดตามค้นหาผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและออกกลางคัน โดยใช้แอปพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” และเว็บไซต์ https://dropout.edudev.in.th และ (4) ประสานหน่วยงานที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และภาคีเครือข่าย ตลอดจนประสานส่งต่อผู้เรียนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน หรือแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ กทม.มีแนวทางการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนสังกัด กทม. โดย สนศ.ได้พัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษา (BEMIS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลโรงเรียนเชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก เพื่อติดตามนักเรียนและให้ความช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง หรือหลุดออกจากระบบ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มเสี่ยง หรือที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น กระทรงศึกษาธิการ (ศธ.) กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนและจัดสรรทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือผู้เรียนในสังกัด ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ตามโครงการเรียนดี เรียนฟรี อย่างมีคุณภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.จำนวน 20 รายการ ตลอดจนสำรวจจำนวนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 316 ราย เพื่อเตรียมพร้อมการบรรจุและแต่งตั้งฯ ทดแทนอัตราว่าง โดยการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษในโครงการต่าง ๆ ของ กทม. อาทิ โครงการทุนเอราวัณ โครงการความร่วมมือการผลิตครูกรณีพิเศษฯ และโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่ง สนศ.ดำเนินการร่วมกับ ศธ. ตลอดจนตรวจสอบกรอบอัตรากำลัง ความต้องการครูตามวิชาเอก และวิเคราะห์จำนวนครูผู้สอนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอก ซึ่งสามารถเรียกบรรจุและแต่งตั้งฯ ได้จากการสอบแข่งขันและสอบคัดเลือกข้างต้น คาดว่าจะไม่เกิดผลกระทบด้านการจัดการเรียนการสอนของในโรงเรียนสังกัดและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนในรายวิชาต่าง ๆ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร