จุฬาฯ ผนึกกำลังสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชู “ผลิตภาพนิยามใหม่” ยกระดับคุณภาพบัณฑิตและบุคลากรวัยทำงาน ผ่าน CUGS Academy
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ผนึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ภายใต้โครงการบริการวิชาการการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUGS Academy: Lifelong Learning and Interdisciplinary Graduate School, Chulalongkorn University โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ
ในงานมีการเปิดตัวหลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการเพิ่มผลผลิต จำนวน 28 หลักสูตร เพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิต บัณฑิตจบใหม่ และบุคคลเพิ่งเริ่มทำงาน โดย รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ ผู้อำนวยการ CUGS Academy และรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพรพิมลพรรณ ดวงใจบุญ ผู้จัดการส่วนบริการฝึกอบรมและสัมมนา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้คำแนะนำหลักสูตร และขั้นตอนการ เข้าเรียน การเก็บ portfolio
ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพของบัณฑิตรุ่นใหม่และบุคลากรในภาคแรงงานไทยให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น โดยผสานความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ CUGS Academy สถาบันและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดำเนินการโดยบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ซึ่งมีการเปิดตัวหลักสูตรนำร่องจำนวน 28 หลักสูตร โดยอาศัยความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อผลิตบัณฑิตยุคใหม่ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ทักษะด้าน Lean Process ด้าน Six sigma ด้าน Project Management เป็นต้น ผนวกกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่ออนุเคราะห์สถานที่ดูงาน ฝึกงานสำหรับผู้เข้าเรียนในหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ความร่วมมือของ 2 องค์กร นอกเหนือไปจากการนำความรู้และทักษะไปใช้พัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ผู้เรียนยังสามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมแต่ละหลักสูตร มาสะสมในคลังหน่วยกิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (NCBS – National Credit Bank System) เพื่อขอเทียบโอนสำหรับขอสำเร็จการศึกษาต่อไป
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความมุ่งมั่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ก้าวหน้า ภายใต้ความร่วมมือของสองหน่วยงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของนิสิต บุคลากร นิสิตเก่า และประชาชนทั่วไป และมีองค์ความรู้สำคัญสำหรับพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศที่มั่นคงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือ สร้างกลไกการบริหารจัดการและร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการ การสร้างความหลากหลายของ องค์ความรู้แก่ผู้เรียน เป็นการสนับสนุนการดำเนินการในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการขยายแนวคิด ผลิตภาพนิยามใหม่ ให้มีความครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษา บัณฑิตที่จบใหม่ และบุคลากรวัยพร้อม เริ่มงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ของจุฬาฯ มาใช้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครือข่ายของสถาบันเพิ่มผลผลิตจะช่วยระดับของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถทำงานไปเรียนรู้ไป เก็บสะสมองค์ความรู้จนสามารถทำให้องค์กรเติบโต ประเทศก็จะก้าวหน้า ในแง่ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจภาคธุรกิจที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็สามารถเข้ามาเรียนแล้วเก็บเป็นโปรไฟล์ให้กับตนเอง สะสมสิ่งที่อยากรู้ เป็นการเปิดกว้างให้แต่ละคนมีทางเลือกให้กับชีวิตและสามารถกำหนดเส้นทางอนาคตให้กับตนเองได้ เป็นการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยในอนาคต
“หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตภายใต้โครงการบริการวิชาการ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ สหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับการพัฒนาขึ้นมา 5 ด้าน ประกอบด้วย Strategic Management, Customer & Marketing Management, Workforce Management, Self-Development และ Operational Excellence ในรูปแบบ E-Training, Workshop onsite และ Site visit ในสถานประกอบการจริง รวม 28 หลักสูตร ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะ ประสบการณ์ และยังนำไปสู่การสะสมประวัติการเรียนรู้ หรือ Portfolio ของตัวเอง อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เทียบโอนหน่วยกิตได้ อีกด้วย พร้อมทั้งสามารถยกระดับวิชาชีพของบุคลากรของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของบุคลากรไทย” นายสุวรรณชัยกล่าว
รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง รับการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมหลายแขนง รวมถึงเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่ของการปฏิบัติงานจริง ทั้งในโรงงานหรือกิจการ ขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียนนอกจากการเรียนรู้ภาควิชาการช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้พร้อมสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่
ทั้งนี้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ จะพัฒนาตนเองและต่อยอดการเรียนรู้
ตลอดชีวิตพร้อมกันกับหลากหลายองค์ความรู้ ผ่านแพลตฟอร์ม CUGS Academy สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://cugs.academy/
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย