วช. เปิด NRCT TALK โชว์ นักวิจัยดีเด่น ปี 66 “ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์” ผู้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนยุคดิจิทัล
วันที่ 24 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 4” เปิดตัว ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปี 2566 วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ใน 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ให้พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อต่อยอด ไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมทางสังคมได้ อย่างเช่นในวันนี้ วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางการศึกษาที่เป็นรากฐานทางสังคม จึงเปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ประจำปี 2566 “ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ผู้คิดค้นผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อสารการศึกษาในวงกว้าง ตลอดจนการต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาให้สามารถนำผลวิจัยไปใช้งานได้จริง ให้กับสื่อมวลชนในครั้งนี้
ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า เริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงผลักดันที่อยากเป็นต้นแบบให้กับนิสิต นักศึกษา ให้เกิดความใฝ่รู้ จึงเริ่มศึกษาวิจัยและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา ทำให้มีความเชี่ยวชาญพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ และระบบเสริมในการเรียนออนไลน์ การเรียนแบบผสมผสาน ห้องเรียนกลับด้าน สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือน การพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยสอนด้วยแชทบอท ร่วมกับอุปกรณ์เทคโนโลยีสวมใส่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ในบริบทต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยที่ทำอยู่จะมุ่งเน้นประโยชน์ใน 4 มิติที่สำคัญ มิติที่ 1 Acadamic contribution งานวิจัยนวัตกรรมจะต้องเน้นให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ ทั้งในเรื่องทักษะสมรรถนะทางวิชาชีพ soft skill ทักษะการคิดต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับ User Experience คือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และ User Interface Design ให้เหมาะสมกับบริบทและตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด มิติที่ 2 Co-creation การทำงานร่วมกับศาสตร์สาขาวิชาอื่น ๆ เช่น การทำงานร่วมกับอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ในการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ โดยการพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์และหุ่นจำลองในการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ มิติที่ 3 International collaboration การสร้างเครือข่ายในระดับสากล โดยร่วมมือกับอาจารย์นักวิจัยในต่างประเทศ เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและการจัดการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมให้คนไทยสามารถที่จะเป็นพลเมืองโลก ได้อย่างเหมาะสม มิติที่ 4 Scalability การร่วมมือเป็นเครือข่ายการทำวิจัยและนวัตกรรมกับภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อยกระดับงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือวิจัยและนวัตกรรมต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ กล่าวทิ้งท้ายถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “การเป็นนักวิจัยที่ดีนั้น เราจะต้องมองภาพงานวิจัยในระยะยาว มองให้เห็นภาพใหญ่ว่าความเชี่ยวชาญของเราจะสามารถส่งเสริม สนับสนุน และช่วยขับเคลื่อน พัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างไร โดยยึดหลักในการทำงาน 3 Ps ได้แก่ Purpose: ทุกความสำเร็จ เริ่มต้นจากการที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน Passion: ระหว่างทางสู่เป้าหมาย ต้องมีความสุข สิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และ Pertinacious: ความมุ่งมั่น เพียรพยายามเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จที่ตั้งไว้”
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาการศึกษา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ