แม่จ๋า…พ่อจ๋า…อย่ายื่นจอให้หนู

แม่จ๋า…พ่อจ๋า…อย่ายื่นจอให้หนู

ปัจจุบันสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้คนในทุกช่วงวัย ในหลาย ๆ ครอบครัวไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูแลลูก หรือบางครอบครัวคิดว่าการยื่นสื่อหน้าจอให้กับลูกจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี พ่อแม่บางท่านนำเอาสื่อหน้าจอเข้ามาเลี้ยงลูกแทน โดยปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเทคโนโลยี เช่น ทีวี มือถือ แท็บเล็ต ทำให้เด็กติดการเล่นสื่อหน้าจอ หากเล่นมากๆ อาจจะทำให้เกิดอาการ “ติดจอ” ซึ่งการที่เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอหลายชั่วโมงต่อวัน มักจะส่งผลเสียต่อเด็ก โดยเฉพาะวัยแรกเกิด – 6 ปี เป็นวัยที่อยู่ในช่วงของการเรียนเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต หากปล่อยให้เด็กเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตมากเกินไป ทำให้เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ สุขภาพ และผลกระทบอื่นๆ ตามมา

รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาวรรณ หนูคง ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โดยเฉลี่ยเด็กมีการใช้หน้าจอเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2561 รายงานว่า เด็กอายุ 0-3 ปีในกรุงเทพมหานคร ประมาณร้อยละ 60 ดูโทรทัศน์หรือใช้สมาร์ทโฟน และดูโทรทัศน์เฉลี่ย 78.89 นาทีต่อวัน (อภิรดี เศรษฐรักษษ์ ตันเจริญวงศ์, 2561) คำแนะนำการใช้สื่อหน้าจอของเด็กโดย American Academy of Pediatrics คือ อายุ 0-2 ปี ไม่ควรใช้สื่อหน้าจอ อายุ 2-5 ปี ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และอายุ 6 ปี ขึ้นไปควรจัดสรรเวลาการใช้สื่อให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นปัจจุบันนอนหลับไปพร้อมหน้าจอ ซึ่งการใช้โทรศัพท์นอกจากจะสร้างพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว อาจจะทำให้เด็กเกิดภาวะ “ติดจอ” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็กในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

พัฒนาการด้านภาษา เด็กอายุ 0-2 ปี จะไม่แนะนำให้เด็กดูจอเลย หากพ่อแม่ให้ลูกวัยนี้เล่นโทรศัพท์ จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า พูดช้า สมาธิสั้น เนื่องจากเด็กวัยนี้จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเป็นการสื่อสาร 2 ทาง เมื่อเด็กได้รับข้อความมาแล้ว สมองก็จะมีการประมวลผลข้อความนั้นๆ ทำให้เซลสมองมีการเพิ่มเส้นใยประสาท เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก แต่การที่เด็กจ้องแต่จอเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว สมองไม่ต้องคิดตาม ฟังอย่างเดียวไม่มีการโต้ตอบ ทำให้สูญเสียทักษะการคิดและพัฒนาการด้านภาษา เด็กที่ไม่ได้รับการฝึกฝนในเรื่องการใช้และความเข้าใจภาษาทำให้เด็กพูดหรือสื่อสารกับคนอื่นช้า เด็กบางรายพูดออกมาเป็นคำที่ไม่สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากเด็กไม่ได้ฝึกการพูด ไม่รู้จักคำศัพท์ ไม่รู้จักความหมายของคำ นอกจากนี้หน้าจอที่มีภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดความสนใจของเด็ก ภาพในจอเปลี่ยนอย่างรวดเร็วไปเรื่อยๆ เด็กจะได้รับการกระตุ้นทั้งภาพและเสียง สมองของเด็กจะได้รับเพียง “สิ่งเร้า” แต่เซลสมองไม่ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ ซึ่งการขาดการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการของออทิสติกเทียมได้

พัฒนาการด้านอารมณ์ เด็กมักจะลอกเลียนแบบและซึมซับจากสิ่งที่ดู หากเด็กได้รับสื่อที่มีการใช้ความรุนแรง เห็นภาพความรุนแรงบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กเกิดความเคยชิน มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เลียนแบบในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างสื่อกับเหตุการณ์จริงได้ เด็กอาจจะหงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เนื่องจากสื่อหน้าจอตอบสนองไว เช่น การ์ตูนที่มีแอนิเมชั่น ทุกอย่างดูเร็ว เด็กก็จะชินกับความรวดเร็ว เด็กอยากดูอันไหนก็สามารถเปลี่ยนได้ทันที แต่โลกในความเป็นจริงไม่ได้ตอบสนองไวแบบในหน้าจอ ทำให้เด็กเกิดความหงุดหงิด วอกแวก ไม่มีสมาธิ ไม่จดจ่อ คล้ายคนสมาธิสั้น สนใจในเรื่องเฉพาะที่ตนเองชอบ เพราะเด็กสามารถเปลี่ยนเรื่องง่าย ดูหรือฟังอะไรที่ไม่ชอบใจก็จะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว และเมื่อเด็กได้อยู่แต่กับสิ่งที่ตนเองชอบ ทำให้เด็กไม่อยากจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก รู้สึกว่าคนทั่วไปไม่น่าสนใจ ก็จะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องของพัฒนาการด้านสังคมตามมา ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกในช่วงเวลาที่ใช้หน้าจอ และคอยดูว่าลูกเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่

พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่หรือการเคลื่อนไหว วัยเด็กจำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่า และเป็นวัยที่กล้ามเนื้อมัดเล็กกำลังพัฒนาด้วยการบีบ จับ ของเล่น การปั้นดิน ระบายสี เล่นทราย แต่หากเด็กที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากๆ จนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย กล้ามเนื้อของเด็กจึงไม่ได้รับการพัฒนาตามวัย ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เหนื่อยง่าย หรือทักษะการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อมัดเล็กและสายตาไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลต่อการฝึกเขียนหรือเรียนหนังสือต่อไป ผลกระทบต่อสุขภาพ การที่เด็กนั่งดูจอนานๆ จะทำเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร่วมกับการกินของขบเคี้ยวระหว่างการใช้จอ ก็จะทำให้เด็กเกิดภาวะอ้วนได้ นอกจากนี้แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตา เมื่อเด็กใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาทางสายตา เช่น แสบตา ตาล้า สายตาสั้น สายตาเอียง กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แสงสีฟ้าจากหน้าจอจะรบกวนการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งเกี่ยวข้องกับการนอน ส่งผลให้วงจรนาฬิกาชีวิตถูกรบกวน หากมีการใช้หน้าจอก่อนนอนก็จะไปกระตุ้นสมองให้ยังตื่นตัว ทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท พอเด็กนอนน้อยก็จะทำให้ง่วงนอนกลางวัน เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่อยากออกไปวิ่งเล่น ส่งผลกระทบต่อการเรียน และทักษะการเรียนรู้ของเด็กตามมา

การที่เด็ก “ติดจอ” ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเอง แต่เกิดจากการที่ผู้ปกครองเป็นคนหยิบยื่นมือถือให้กับเด็ก ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ปกครอง คือ ผู้ปกครองควรร่วมกันวางแผนในการใช้หน้าจออย่างเหมาะสมสำหรับเด็ก มีการจำกัดระยะเวลาการใช้หน้าจอสำหรับเด็ก(screen-free time) กำหนดสถานที่สำหรับการเข้าถึงหน้าจอ ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เริ่มจากการเป็นตัวอย่างของพ่อแม่ที่ลดชั่วโมงการใช้หน้าจอ และ”หลีกเลี่ยงการเล่นให้ลูกเห็น” พ่อแม่ควรหากิจกรรมที่เหมาะสมกับอายุ และระดับพัฒนาการของเด็ก ในเด็กเล็กเน้นการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนและสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดให้มีเวลาเล่นด้วยกัน พูดคุยกัน ทำกิจกรรมที่หลากหลายที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้พัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามสื่อเทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้ายที่ขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสามารถทำได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี สามารถให้เด็กเรียนรู้จากหน้าจอได้โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการใช้หน้าจอกับเด็ก และกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และที่สำคัญคือเลือกสื่อที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก

ที่มา: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ