วว. /วช./มทร.ธัญบุรี ผนึกกำลังพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วย วทน.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โอกาสนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี โดยมีผู้บริหาร บุคลากรทั้งสามหน่วยงานร่วมแสดงความยินดี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า การร่วมประสานพลังกันของทั้งสามหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเป้าหมายชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ในการร่วมมือผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงการสนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม เครื่องมือวิเคราะห์ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนา และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้ การผลักดัน “ธัชวิทย์” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยในการทำงานร่วมกัน จะเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกอีกด้วย
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์และการรับมือกับประเด็นอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมมือในการผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม เครื่องมือวิเคราะห์ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ทั้งสามฝ่ายเห็นสมควร โดยร่วมกันคัดเลือกหัวข้อในการพัฒนาทักษะขั้นสูงสำหรับนักศึกษา มีระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 5 ปี ทั้งนี้ วว. เป็นผู้จัดหาบุคลากรที่จะเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะขั้นสูงแก่นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก ส่วน วช. เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาและยุทธศาสตร์ของประเทศต่อไป และ มทร.ธัญบุรี เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาและให้ความรู้ในวิชาที่มีความเกี่ยวข้องแก่นักศึกษา
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย