ม.มหิดลสอนสะเต็มศึกษา ‘เด็กโฮมสคูล’ เสริมทักษะด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์

ม.มหิดลสอนสะเต็มศึกษา ‘เด็กโฮมสคูล’ เสริมทักษะด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียนแต่คือ “สนามชีวิต” ที่ต้องเผชิญและใช้เวลาในการเรียนรู้พร้อมเติบโตและปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่เด็กทั่วไปกำลังนั่งฟังครูสอนอย่างตั้งอกตั้งใจในชั้นเรียน แต่เด็ก “โฮมสคูล” (Home School) มี “โลกทั้งใบ” ที่อยู่ตรงหน้า ให้คอยค้นหาคำตอบ

ยุทธศาสตร์ชาติประกาศให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ “สะเต็มศึกษา” (STEM – Science,

Technology, Engineering and Mathematics) เป็นธงนำพัฒนาสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ที่รับเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นหัวใจของสรรพสิ่งซึ่งขับเคลื่อนด้วย”สมองของคอมพิวเตอร์”

ภายใต้การควบคุมโดย “การเขียนโปรแกรม” (Coding) จาก “มันสมองของมนุษย์” จึงเกิดเป็นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “STEM & Robotics Camp” ที่เปิดโอกาสให้เด็กโฮมสคูลได้ร่วมสัมผัสเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา จังหวัดนครปฐม

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้เป็นผู้นำเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดให้เด็กโฮมสคูลวัยประถม – มัธยมได้มีเวทีแสดงออกถึงอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ ตลอดจนได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และมีโอกาสร่วมกันทำงานเป็นทีมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากโจทย์ที่ท้าทาย

โดยการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “STEM & Robotics Camp” นี้มีคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันถ่ายทอดเทคนิคการเขียน Coding เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่

พร้อมดูแลให้น้องๆ ในค่ายได้ทั้งสนุกและได้ความรู้จากการปฏิบัติภารกิจจากโจทย์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรม คือ การเขียนโปรแกรมเพื่อใช้ควบคุมเซนเซอร์ของ “Robotic War” หรือ “หุ่นยนต์รบ” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในแต่ละทีมสามารถออกแบบได้ตามจินตนาการ

กติกากำหนดให้ทีมที่ชนะเลิศ คือทีมที่สามารถออกแบบให้รถหุ่นยนต์ “ตีแตก” คู่ต่อสู้ ซึ่งมี “ลูกโป่ง” เปรียบเสมือน”ฐานกำลัง” ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับต้องคอยระวังฐานกำลังของตัวเองไปด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยทักษะการเขียนโปรแกรมที่เป็นเลิศแล้ว ยังต้องอาศัย”ทีมเวิร์ค” ในการตกแต่งรถหุ่นยนต์ตามแบบฉบับของทีมพร้อมติดตั้งอาวุธที่ทำมาจากไม้จิ้มปลายแหลม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป ประกอบกับการวางแผนควบคุมการเคลื่อนที่ของรถหุ่นยนต์ที่เหนือชั้น

ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ มีผลงานโดดเด่นด้านการประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้จากวัสดุที่หาได้จากรอบตัว ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการจัด”STEM & Robotics Camp” เพื่อเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ ในค่ายได้รู้จัก “รักษ์โลก” ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 12 ที่ว่าด้วยความรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า (Responsible Consumption and Production)

“หุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้เป็นสื่อการสอนที่มีราคาแพง ทำให้เข้าถึงได้เฉพาะเด็กบางกลุ่ม จะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เราสามารถส่งเสริมให้เด็ก “โตกว่าอายุจริง” จากการทดลอง และริเริ่มสิ่งใหม่ด้วยตัวเองได้ ขอเพียงไม่ปิดกั้นจินตนาการแห่งการเรียนรู้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ กล่าว

และเนื่องด้วยการจัดค่ายในครั้งนี้ได้เปิดกว้างให้เด็กเล็กพร้อมผู้ปกครองได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย จึงนับเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวไปด้วยในตัวซึ่งครอบครัวที่มาเข้าร่วมไม่เพียงเพราะต้องการให้ลูกได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ แต่พร้อม “เติบโตไปกับลูก” จากการได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก

“คุณแม่หลัน” ศิราวดี ศุมานนท์ ผู้ปกครองของ “น้องบุนัย” ธารา มานะนัด น้องโฮมสคูลชั้นป.1 ที่จัดเป็นรุ่นเล็กที่สุดของค่าย เชื่อมั่นว่าหากให้ลูกได้เรียนรู้ตามความสนใจ จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างมีความสุข แม้อนาคตลูกจะยังคงสนใจเรื่องหุ่นยนต์ต่อไปหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าจะทำอย่างไรให้ลูกยังไม่หมดไฟที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่

“น้องไททัน” ไทธรรม์ ทินกร ณ อยุธยา วัย 9 ขวบ คือตัวอย่างของเด็กโฮมสคูลในค่าย ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยการ “คิดนอกกรอบ” จากการพยายามสอดแทรกไอเดียใหม่ๆ ลงไปในการร่วมทีมประดิษฐ์ “Robotic War” จากการเขียนโปรแกรมให้มี “มาริโอ้” ไว้ที่หน้าจอรถหุ่นยนต์เพื่อสร้างสีสันให้กับการแข่งขัน โดยมองว่าด้วยทักษะการเขียนCoding ที่ได้จากกิจกรรม “STEM & Robotics Camp” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความสนุกสนาน และได้เพื่อนแล้วยังอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไปในอนาคต

ก้าวต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ ตั้งใจว่าจะขยายผลการจัดกิจกรรม “STEM & Robotics Camp” ออกไปยังทั่วประเทศ ด้วยการจัดอบรมทักษะด้านการเขียนCoding ให้กับครูผู้สอน และจะร่วมกับทีมช่วยกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่จากการประดิษฐ์บอร์ดขยายสำหรับไมโครบิตเพื่อประกอบการเรียนการสอนขึ้นไว้ใช้เองได้ต่อไป

โดยหวังให้ความรู้ทางด้านการเขียน Coding ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ “สะเต็มศึกษา” นี้ จะทำให้ “เด็กโฮมสคูล” ได้มีทักษะพื้นฐานเพื่อร่วมพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Cr: ภาพโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไปสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ