CMMU ชูใบเบิกทางโลกการทำงานยุคใหม่ด้วยหลักสูตร 2 ปริญญา “ตรีควบโท” เดินหน้าปั้นบัณฑิตสายดนตรีมีสกิลประกอบการ

CMMU ชูใบเบิกทางโลกการทำงานยุคใหม่ด้วยหลักสูตร 2 ปริญญา “ตรีควบโท” เดินหน้าปั้นบัณฑิตสายดนตรีมีสกิลประกอบการ

CMMU ชูใบเบิกทางโลกการทำงานยุคใหม่ด้วยหลักสูตร 2 ปริญญา “ตรีควบโท” เดินหน้าปั้นบัณฑิตสายดนตรีมีสกิลประกอบการ – บริหารพร้อมเผยหลักสูตรใหม่ลดเวลาและค่าเล่าเรียนได้กว่า 40%

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เผยเทรนด์การศึกษาแบบปริญญาตรีควบปริญญาโทมาแรงในกลุ่มนักศึกษาทั่วโลก ทั้งในรูปแบบสาขาเดียวกันและการเรียนข้ามสาขา พร้อมเตรียมรับความต้องการดังกล่าวผ่านการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท “นักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม หรือ Music Entrepreneurship and Innovation: MEI” ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่แรกในประเทศไทยเพื่อรองรับเทรนด์การศึกษาดังกล่าว พร้อมปั้นกลุ่มนักศึกษาสายดนตรี ให้สามารถสร้างอาชีพ มีทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการและการบริหารจัดการในระยะเวลาเพียง 4 ปีครึ่ง นอกจากนี้ ยังเผยว่า การเรียนแบบปริญญาตรีควบปริญญาโทนอกจากจะได้ปริญญาถึง 2 ใบ ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการเรียนแยกทีละปริญญาถึง 40 % ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม สามารถดูข้อมูลหลักสูตรจากhttps://www.music.mahidol.ac.th/academic/mei/ หรือสมัครได้ที่ https://forms.gle/xBF35THsELp5LDVX9 ตั้งแต่วันนี้ – วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2566

ผศ. ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์ และผู้ประสานงานโครงการปริญญาตรีควบปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นักศึกษาในปัจจุบันสนใจเรียนหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโทมากขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเรียนต่อในสาขาเดิม หรือเป็นการเรียนข้ามศาสตร์เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งส่วนมากจะมีลักษณะเป็นซิงเกิลสกิล (Single Skill) โดย CMMU เล็งเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Young Talent เป็นคนที่มีความสามารถมาก สามารถต่อยอดเติมความรู้ให้กลายเป็นคนมีทักษะแบบมัลติสกิล (Multi Skill) ได้เพื่อนำศักยภาพใหม่ๆ มาพัฒนาในทักษะดั้งเดิมที่ตนเองเชี่ยวชาญอยู่แล้วให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มซอฟต์สกิลที่เกี่ยวกับด้านการบริหาร และการจัดการ จึงได้จับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตหลักสูตรสร้างนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรมขึ้นมา ในรูปแบบปริญญาตรีควบปริญญาโท ภายใต้หลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) ที่แรกในประเทศไทย

สำหรับหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) เป็นหลักสูตร 2 ปริญญาที่เรียนเพียง 4 ปีครึ่ง คือ หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (กจ.ม.) (Master of Management) สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต (ดศ.บ.) (Bachelor of Music) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เรียนจะได้เรียนเนื้อหาในหลักสูตรสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมตั้งแต่ปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 โดยจะทยอยเรียนควบคู่ไปกับรายวิชาในหลักสูตรดุริยางคศาสตร์ในช่วงภาคการศึกษาปกติ และภาคการศึกษาฤดูร้อน

ด้าน ดร. ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Music Entrepreneurship and Innovation: MEI) CMMU มีการดีไซน์หลักสูตรมาเป็นพิเศษสำหรับนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการค่อย ๆ ปูพื้นฐานเนื้อหาของระดับปริญญาโทให้ตั้งแต่ปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 จากรายวิชาที่เป็นพื้นฐานของสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม โดยในภาคเรียนปกติ อาจารย์จาก CMMU จะเข้าไปสอนน้องๆ นักศึกษาที่วิทยาเขตศาลายา และในภาคฤดูร้อนนักเรียนจะได้มาเรียนที่ CMMU เพื่อสร้างคอนเน็คชันที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของน้องๆ ในอนาคต โดยจากหลักสูตรดังกล่าว เมื่อศึกษาจบก็จะสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายรวมถึงสามารถสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองได้ด้วย

การเรียนแบบปริญญาตรีควบปริญญาโทเป็นการเรียนที่สามารถประหยัดเวลาเรียนได้เป็นอย่างมาก เพราะเรียนเพียงแค่ 4 ปีครึ่งแต่ได้ปริญญาถึง 2 ใบ สามารถทำให้บัณฑิตจบใหม่มีใบเบิกทางในการเข้าสู่การทำงานที่หลากหลายแนวทางมากขึ้น นอกจากนี้หลักสูตรฯ ไม่ได้สอนแค่วิชาด้านการบริหารธุรกิจ และการจัดการเท่านั้น แต่ยังสอนในเรื่องของการพัฒนาตนเอง บุคลิกภาพ ทักษะการต่อรอง รวมไปถึงทักษะการนำเสนอ และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ ทำให้ผู้เรียนมีสกิลในการประกอบอาชีพที่มากกว่าเดิม และที่สำคัญ การเรียน 2 ปริญญา ไปพร้อมๆ กัน ยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการเรียนแยกทีละปริญญาประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ดร. ตรียุทธ กล่าวเสริม

หลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม จะเริ่มเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2566 โดยรับนักศึกษาในคณะดุริยางคศาสตร์ทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ผ่านเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในรอบการสมัครที่ 1 2 และ 3 โดยมี GPA ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.00 กลุ่มที่ 2 ผู้ที่สมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในรอบการสมัครที่ 4 โดยมี GPA ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.00 ทั้งนี้ นักศึกษาต้องผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต จึงจะได้รับพิจารณาในการเข้าเรียนในหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม และกลุ่มที่ 3 นักศึกษาปัจจุบันในหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 1 (รหัสนักศึกษา 65) และมี GPA ในชั้นปีที่ 1 ไม่น้อยกว่า 2.00

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม สามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/xBF35THsELp5LDVX9 ตั้งแต่วันนี้ – วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2566 โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 สอบสัมภาษณ์ วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาหลักสูตรนักดนตรีผู้ประกอบการและนวัตกรรม ในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-206-2000 ต่อ 3203

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ