สุดปัง! “เพื่อนจุฬา” ธุรกิจหาห้องพักและเมทไปได้สวยด้วยคอนเซ็ปต์ “เพื่อนถึงเพื่อน”
จากปัญหาห้องเช่าว่างในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นิสิตจุฬาฯ ผุดไอเดียธุรกิจอสังหาฯ “เพื่อนจุฬา” หาห้องพักที่ปลอดภัยและรูมเมทที่เข้ากันได้ มุ่งฟอร์ม lifestyle community ตอบโจทย์ชีวิตนิสิตจุฬาฯ จ่อขยายไอเดียธุรกิจสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยอื่น
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการปล่อยเช่าคอนโดว่างของครอบครัว ทำให้ ท็อป ธรรมสรณ์ ล้ำเลิศเศรษฐกาล นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิ๊งไอเดียสร้างชุมชนสำหรับคนจุฬาฯ ที่ต้องการหาที่พักที่สะดวกและปลอดภัย รวมถึงหารูมเมทช่วยแชร์ค่าห้อง จนมาลงตัวที่ open chat “เพื่อนจุฬา” สื่อกลางระหว่างนิสิตและเจ้าของห้องว่าง และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ของการพักอาศัยในละแวกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ที่บ้านผมมีคอนโดให้เช่าอยู่ห้องหนึ่งแถวพระราม 9 ที่ปล่อยไม่ออกมานานตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ผมจึงได้รู้ว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่อยากปล่อยห้องอยู่เหมือนกัน เมื่อมาบวกกับที่ผมได้ยินเพื่อน ๆ บ่นเรื่องหาหอพักหรือหารูมเมทไม่ได้อยู่บ่อย ๆ ผมเลยทดลองสร้าง Line open chat อันนี้ขึ้นมา” ท็อปเล่าที่มาของธุรกิจบริการหาห้องพัก “เพื่อนจุฬา”
ท็อปปลุกปั้นธุรกิจนี้โดยลำพังตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 เทอม 2 จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 เขาเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงได้ชักชวนสองเพื่อนซี้ – จาจ้า กรมาดา พิริยะเกียรติสกุล (ปัจจุบัน) นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ฟ้ง พสิน ฉันทชัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ เข้ามาร่วมทีมบริหารเพื่อขยายงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น
ท็อปเล่าว่าพวกเขาทั้ง 3 เคยร่วมทีมกันเมื่อครั้งเป็นนิสิตปี 1 ตอนนั้น ทำ start up ธุรกิจ legal tech ชื่อ Findyer เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมกฎหมายซึ่งได้รับผลตอบรับดีและได้เงินทุนมาจำนวนหนึ่งแต่หลังดำเนินงานไป 1 ปีกว่าก็ไม่ได้ทำต่อ ครั้งนี้จึงเหมือนได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
ท็อปเล่าถึงเพื่อนทั้งสองว่า “จาจ้ามีฉายาว่า “ปีศาจแห่งคณะบัญชี” เป็นคนที่มีศักยภาพสูง ทำได้ทุกอย่าง เป็นที่ต้องการของหลายบริษัทดัง ส่วนฟ้งเป็นคนที่อึดมาก เราเคยทำ case competition (การแข่งขันการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ) ด้วยกัน นอกจากนี้ ฟ้งยังมีประสบการณ์จากธุรกิจชีทออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในคณะนิติศาสตร์อย่าง Puka ด้วย
ช่วยหาห้องพัก แบบเพื่อนถึงเพื่อน
ทีมเพื่อนจุฬาใช้ต้นทุนประสบการณ์ของพวกเขาในฐานะ “นิสิต” เป็นกุญแจเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
“เราเป็นนิสิตและเคยมี pain point กับการหาที่พักเหมือนกัน เราเป็นเด็กต่างจังหวัด พอเข้ามาเรียนจุฬาฯ ปี 1 เราไม่รู้เลยว่าจะหาที่พักตรงไหน งบประมาณเท่าไร ความปลอดภัยเป็นอย่างไร เราจึงอยากให้ “เพื่อนจุฬา” เป็นคนกลางที่เพื่อน ๆ น้อง ๆ นึกถึงและผู้ปกครองให้ความไว้วางใจ เราพยายามทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่สุดในการหาห้องพัก ทั้งเรื่องราคา ความปลอดภัย และเงื่อนไขต่าง ๆ ของที่พัก” จาจ้า กรมาดา เล่าคอนเซ็ปต์ “เพื่อนจุฬา” ที่เน้นการบริการแบบ “เพื่อนถึงเพื่อน”
จึงไม่น่าแปลกที่เพียง 2 ปี “เพื่อนจุฬา” มีลูกค้าในระบบแล้วกว่า 1,300 ราย และมีสมาชิกใน open chat มากกว่า 3,500 คน
“ตอนนี้ เรามีแพลนที่จะสร้างตัวชี้วัดความปลอดภัยของที่พักและย่านพักอาศัยต่าง ๆ อีกด้วย เรามีที่พักอยู่ในระบบเยอะมาก ตั้งแต่บริเวณรอบมหาวิทยาลัยจนถึงไกล ๆ เราได้ทำการสำรวจและติดแท็กว่าย่านไหนเป็นอย่างไร ย่านไหนปลอดภัยเหมาะสำหรับผู้หญิงหรือเพื่อน ๆ ที่ต้องพักคนเดียว เป็นต้น ซึ่งในฐานะนิสิตเราเข้าใจปัญหาตรงนี้มาก ๆ”
เพื่อนจุฬาฯ หา “รูมเมท” ให้ได้ด้วยนะ
หอหรือที่พักบริเวณโดยรอบจุฬาฯ และพื้นที่ใกล้เคียงมีราคาค่อนข้างสูง จากการสำรวจพบว่าค่าที่พักที่นิสิตจุฬาต้องจ่ายสูงกว่ามหาวิทยาลัยอื่น 2-3 เท่าเป็นอย่างน้อย การมีรูมเมทจึงเป็นทางออกที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บ้าง แต่การหารูมเมทที่จะอยู่ด้วยกันได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “เพื่อนจุฬา” จึงเพิ่มบริการช่วยหา “เมท” ที่ตรงใจให้ด้วย
“สมัยก่อน เวลาจะหารูมเมท เราต้องไปประกาศหาในทวิตเตอร์หรือสอบถามผ่านเอเย่นต์ แต่ปัญหาก็คือเราไม่รู้จักตัวตนของอีกฝ่ายเลย จะเป็นนักศึกษาจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย” จาจ้าเล่าถึงปัญหาของการหาเพื่อนแชร์ค่าห้องพัก ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบบริการหา รูมเมท “บริการของเราลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าคนที่เราแนะนำเป็นนิสิตนักศึกษาแน่ ๆ”
ท็อปเพิ่มเติมว่า “เพื่อนจุฬา” มีระบบคัดกรองที่จะจับคู่คนที่นิสัยไปกันได้ให้มาแชร์และแบ่งค่าเช่าห้องกัน
“เราจับคู่รูมเมทโดยการที่ให้ลูกค้าบอกลักษณะนิสัยของตัวเองและรูมเมทที่ต้องการให้มากที่สุด โดยเอาลักษณะนิสัยที่เราพบซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็น นอนดึกไหม เปิดหรือปิดไฟตอนนอน เล่นเกมหรือเปล่า ความสะอาด ฯลฯ เข้ามาเป็นตัวคัดกรองเพื่อจับคู่ โดยให้สมาชิกที่ต้องการหารูมเมทคีย์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ลงไปในแบบฟอร์ม จากนั้นก็แนะนำคนที่ใกล้เคียงที่สุดให้ลูกค้าไปทำความรู้จักกันก่อนว่าโอเคไหม”
แม้จะไม่สามารถการันตีให้ได้ว่าลูกค้าจะได้รูมเมทที่ดีที่สุด แต่ทีมเพื่อนจุฬาเชื่อว่าพวกเขาจะช่วยลูกค้าค้นหารูมเมทที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ลูกค้าต้องการได้มากที่สุด
มากกว่าเอเย่นต์อสังหาคือ Community นิสิตจุฬาฯ
ด้วยความที่เป็น Line open chat สมาชิกกว่า 3,500 คนในกลุ่มสามารถหยิบยกประเด็นอะไรก็ได้ที่อยากรู้เพื่อการใช้ชีวิตรอบรั้วจุฬา เข้ามาพูดคุยกัน — “เพื่อนจุฬา” จึงเป็นมากกว่าเอเย่นต์หาห้องพัก พาลูกค้าชมห้อง และดูแลบริการด้านที่พักหลังการขาย
“ลองนึกภาพว่าเราเป็นนิสิตปี 1 เข้ามาเรียนที่นี่ใหม่ ๆ ไม่รู้จักใครเลย มีปัญหาหรือคำถาม จะหาข้อมูลได้ที่ไหน เช่น หาหอพักอย่างไรดี หอนี้ดีไหม ย่านนี้ซอยนี้โอเคไหม หาซื้อชุดนิสิตได้ที่ไหน ร้านรวงต่าง ๆ รอบที่พักเป็นอย่างไร – เขาก็จะเข้ามาถามเรา เราจึงเป็นเหมือน community คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใน open chat แล้ว แทบไม่มีใครที่ออกไปเลย” ท็อปกล่าว
คุณภาพชีวิตคือหัวใจธุรกิจ “เพื่อนจุฬา”
“เพื่อนจุฬาฯ” เพิ่งรันระบบใหม่เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา แม้จะยังอยู่ในช่วงทดลองและปรับระบบ แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ทีมบริหารรู้สึกภูมิใจที่ได้ “ช่วยเพื่อน”
“ผมดีใจที่เจอเพื่อนที่ได้ที่พักหรือรูมเมทจากบริการของเรา แล้วเขาดูแฮปปี้ โดยที่ไม่รู้ว่าเราคือคนที่ดูแลตรงนี้อยู่” ท็อปเล่าด้วยความภูมิใจ
จาจ้ากล่าวเสริม “เคยมีคนบอกเราว่าที่ผ่านมา เขาต้องไปหาหอพักที่อยู่ในซอยค่อนข้างลึก เหตุผลเพราะต้องเซฟค่าใช้จ่าย เพราะหารูมเมทไม่ได้ แต่พอมาใช้บริการของเรา เขาวางใจว่าจะได้รูมเมทที่เป็นนิสิตจุฬาฯ เหมือนกัน และย้ายไปอยู่ในที่พักที่ดีและสะดวกกว่าในราคาที่ถูกลง”
เสียงสะท้อนเช่นนี้ตอกย้ำ mission ของธุรกิจที่พวกเขาตั้งใจทำร่วมกัน “นี่มันมากกว่าการซื้อ-ขาย แต่คือความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเพื่อน ๆ”
เน้นผลลัพธ์และความยืดหยุ่น บริหารธุรกิจสไตล์นิสิตผู้ประกอบการ
การบริหารธุรกิจของทีมเพือนจุฬาเน้นที่ผลลัพธ์ (output oriented) มีการสะท้อน feedback และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อให้ปรับปรุงการบริการได้รวดเร็ว การทำงานจึงต้องมีความยืดหยุ่นสูง ไม่จำกัดเวลาในการทำงานว่าต้องทำเมื่อใด ทั้งนี้ ท็อปเล่าถึงการแบ่งงานในทีม 3 คนว่าเขาและฟ้งดูแลงานด้านการขาย (sales และ partnerships) อาทิ การคัดเลือกห้อง และมอบหมายงานให้เอเย่นต์ที่เป็นเพื่อนนิสิตอีก 8 คนในการติดต่อลูกค้า ส่วนจาจ้าดูเรื่องซอฟแวร์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ กลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าและการตลาด (business development และ marketing) ซึ่งจะดูภาพรวมและแบ่งงานบางส่วนให้เพื่อน ๆ ในทีมอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมและการตลาดผ่านการทำงานจริง
“เราสร้างทุกอย่างเองทั้งหมด ลงไปคุยกับหอพักและคอนโดเอง เขียนโค้ดเอง ร่างสัญญา คัดเอเย่นต์และทีมเอง หาลูกค้าเอง เพราะงานที่เยอะและต้องพร้อมเปลี่ยน เวลาแบ่งงานจึงเน้นคุยให้เห็นเป้าหมายร่วมกันไม่ได้กำหนดวิธีการที่ตายตัวหรือชั่วโมงการทำงานให้กับทีม ทำให้งานยืดหยุ่นพอที่ทุกคนสามารถจัดสรรเวลาทำงานและเวลาเรียนที่เข้ากับตัวเองได้”
อนาคต Community “เพื่อนจุฬา”
แต่ละปี จุฬาฯ ต้อนรับนิสิตใหม่ราว 6,000 คน นี่เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของทีมเพื่อนจุฬา
“ผมมองว่าเพื่อนจุฬาช่วยหาห้องยังไปได้อีกครับ เรามี community ที่แข็งแรง ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาที่พักอาศัยให้เพื่อน ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรีวิวหอ การขนย้าย ขายสัญญาเช่า เป็นต้น ” ท็อปกล่าว
จาจ้าเสริมว่า”เรายังโตได้อีก 3-4 เท่าเลยค่ะ เพราะเราไม่ได้มองมันเป็นแค่ธุรกิจ แต่มองในฐานะ community ที่นอกจากจะเชื่อมต่อกับคนในจุฬาฯ แล้ว เรายังคิดจะเชื่อมกับผู้ประกอบการ SMEs ต่าง ๆ รอบ ๆ ที่พัก ให้เข้ามาในระบบ”
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายไอเดียนี้ไปให้เพื่อน ๆ ที่อยู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ทดลองทำธุรกิจคล้ายพวกเขาด้วย
“เด็กมหาวิทยาลัยอย่างเราอาจจะขาดประสบการณ์หรือความรู้ แต่สิ่งที่เรามีอยู่มาก ๆ คือพลังและความกระตือรือร้น”
ธุรกิจ “เพื่อนจุฬา” กำลังขยายตัวและต้องการเพื่อนร่วมทีมที่มีพลังและความกระตือรือร้นเข้าร่วมทีม “ใครมีแพสชั่นในการทำงานด้านอสังหาฯ เพื่อนจุฬา ยังคงเปิดรับสมัครทีมงานอยู่เรื่อย ๆ ทักเข้ามาพูดคุยกันได้ค่ะ ยินดีมาก ๆ” จาจ้ากล่าวเชิญชวน
ไม่แน่ว่าในอนาคต ธุรกิจ “เพื่อนจุฬา” จะเติบโตไปเป็นพื้นที่ที่นิสิตจุฬาฯ ดูแลและสร้างคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านช่องทางการพูดคุย ค้นหา และแบ่งปันข้อมูลครบทุกเรื่องในที่เดียวแบบ “เพื่อนถึงเพื่อน”
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ