เยาวชนสันกำแพงเจ๋ง ! โชว์พลังคนรุ่นใหม่ ใช้สื่อเชื่อมโยงคนทุกวัยร่วม ‘เปลี่ยนเมือง’ ในงานมัดปุ๊กละอ่อน MIDL Mini Fest

เยาวชนสันกำแพงเจ๋ง ! โชว์พลังคนรุ่นใหม่ ใช้สื่อเชื่อมโยงคนทุกวัยร่วม ‘เปลี่ยนเมือง’ ในงานมัดปุ๊กละอ่อน MIDL Mini Fest

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย MIDL for Inclusive Cities  จาก 4 พื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ โครงการพลเผ่า พลเมือง พลโลก เดียวกัน อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่   โครงการ Mae Sariang Talk คุยเพื่อปรับ ขยับเพื่อเปลี่ยนเมือง (แม่สะเรียง) อ.แม่สะเรียง  จ.แม่ฮ่องสอน   โครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โครงการ Now You See Me แม่ทามีดีกว่าที่เห็น อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ จัดงาน “มัดปุ๊กละอ่อน” MIDL Mini Fest เปิดเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กว่า 120 คน ได้ส่งเสียงแสดงพลังเพื่อขับเคลื่อนเมืองสันกำแพง เปิดข้อเสนอของเด็กและเยาวชนต่อการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ หวังให้เกิดการสื่อสารอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เสียงของเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสร้างเมืองที่เป็นของทุกคน

คุณนันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม หนึ่งในภาคีร่วมจัดงานและภาคีเครือข่ายโครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน กล่าวว่า “MIDL นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ในการสื่อสารขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่เยาวชนสนใจ เช่น เรื่องของการจัดการพื้นที่สีเขียว การจัดการด้านภูมิปัญญาวัฒนธรรมในชุมชน เป็นการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองที่จะส่งผลในการขับเคลื่อนทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่จะทำให้เด็กลุกขึ้นมาเปลี่ยนได้ ผู้ใหญ่ต้องช่วยสนับสนุนอยู่ข้าง ๆ เป็นพลังให้เขา ให้เขาได้คิด ได้เห็น ผ่านประสบการณ์ร่วมบางอย่าง ก็จะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนได้ การทำงานของชุมชนและเยาวชนพลเมืองสันกำแพง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนเปิดใจเข้าหากัน เด็กมีศักยภาพในการใช้สื่อ ขณะที่ผู้ใหญ่มีข้อมูลที่จะส่งต่อให้เด็กได้เรียนรู้ เมื่อสองฝ่ายเปิดใจเข้ามาช่วยกัน ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนเมืองไปสู่เมืองที่เป็นของทุกคนได้ต่อไป”

คุณครูตระการ ทนานทอง ครูที่ปรึกษาโครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน กล่าวว่า “โครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน ทำให้เด็กออกจากกรอบการเรียนรู้เดิม ๆ ในห้องเรียน มาใช้ชุมชนเป็นนิเวศหรือองค์ประกอบของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ปีนี้เราเน้นการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวของชุมชน วันนี้สิ่งที่เปลี่ยนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ เราเห็นทุกเจเนเรชั่นในสันกำแพงออกมาเคลื่อนไหวไปด้วยกัน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนทุกเจเนเรชั่นมีความสามารถ ที่ไม่จำเป็นต้องมาวัดกันก็ได้ว่าใครมีมากกว่ากัน สิ่งที่เด็ก ๆ ทำคือการใช้ทักษะการทำงานด้านสื่อมาเป็นกลไกช่วยจุดประกายให้คนทุกวัยทุกภาคส่วนในชุมชน จากที่เคยต่างคนต่างอยู่ วันนี้เราได้มาร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มองเห็นปัญหา และมาร่วมกันขับเคลื่อนเมืองของเราไปด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะส่งต่อเป็นพลังนำสู่การเปลี่ยนแปลงของสันกำแพงต่อไปในอนาคต”

น้องเวสป้า – เกียรติกานต์ อินต๊ะแก้ว นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสันกำแพง ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการ ทำให้พัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้นหลายได้ แต่ก่อนเป็นคนที่อยากจะโพสต์อะไรก็โพสต์ แต่พอเข้าร่วมโครงการก็ทำให้เข้าใจว่าสื่อมีศักยภาพมากกว่านั้น สามารถนำมาสร้างแรงกระเพื่อมขับเคลื่อนสังคมได้ นอกจากนั้นยังทำให้ได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง เราได้รู้ว่าชุมชนที่เราอยู่อย่างสันกำแพงมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่มากมายไม่ใช่แค่การทำร่ม ซึ่งการทำสื่อออกไปในสังคม อาจทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้ที่กำลังจะเลือนหายมีโอกาสพลิกฟื้นกลับคืนมาได้อีกครั้ง และเมื่อผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจของเราสะท้อนผ่านสื่อที่เราทำ เขาจะเห็นความจริงใจ ความตั้งใจของเรา และเขาก็จะเปิดใจรับฟังเรา เพราะเสียงของเด็กเป็นเสียงที่บริสุทธิ์ ไม่ได้มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง”

นายกฤตย์ เข็มเพ็ชร ปลัดอาวุโส อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “การพัฒนาคนต้องเริ่มจากเยาวชน วันนี้การที่เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้บริบทของเมืองที่แตกต่างกัน เป็นการสร้างการรับรู้ในเชิงปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นกระแสที่จะปลุกเยาวชนให้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน เราได้เห็นวิธีคิด วิธีสื่อสารของเด็กหลายคนที่สามารถเอาไปช่วยสื่อสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เยอะ เราพร้อมที่จะร่วมสนับสนุน รับฟังข้อเสนอของเด็ก ๆ รวมถึงช่วยกระตุ้นประสานในส่วนราชการภาคต่าง ๆ ให้เข้ามารับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ ภาพเมืองสันกำแพงในอนาคต จะไม่เป็นการเปลี่ยนบนความขัดแย้งของคนในแต่ละช่วงวัย สันกำแพงจะเป็นเมืองของทุกคน รองรับพหุวัฒนธรรมที่จะเข้ามา พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ไม่ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมที่แข็งแรงของเราด้วยเช่นกัน”

ที่มา: สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ