อว. โดย อพวช. วช. และ สดร. ผนึกกำลังนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย เข้าร่วมงาน 1st NATIONAL STI DAY ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

อว. โดย อพวช. วช. และ สดร. ผนึกกำลังนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย เข้าร่วมงาน 1st NATIONAL STI DAY ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) ผนึกกำลังนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมงาน 1st NATIONAL STI DAY ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2566 ณ Diamond Island Convention and Exhibition Centre กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ในงานดังกล่าว พลเอกอาวุโส สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานในการเปิดงาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ณ Diamond Island Convention and Exhibition Centre กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

พร้อมนี้ นายจอม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กัมพูชา ได้ให้เกียรติร่วมเปิดพื้นที่นิทรรศการ Thailand Pavilion พร้อมด้วย ดร.ชิม เกียรติ ฤทธี ผู้แทนประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ , ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, นางสาวจุลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ให้การต้อนรับและร่วมในพิธีเปิดพื้นที่นิทรรศการ Thailand Pavilion

การจัดกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและสร้างแรงจูงใจแก่เยาวชนให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมเป็นการสานสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา

ในการนี้ วช. มีเป้าหมายและมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมกันผลักดันให้สิ่งประดิษฐ์และ นวัตกรรมของทั้งสองประเทศ ได้ถูกนำไปพัฒนาต่อยอด เกิดการเชื่อมโยงส่งต่อถึงผู้ใช้งาน และผู้ใช้ประโยชน์ โดย วช. ได้นำผลงาน มาร่วมนำเสนอ ดังนี้

  1. ผลงานเรื่อง “Aviation Learning Center”
    นำโดย อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล แห่ง สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
  2. ผลงานเรื่อง “CU Smart Lens: Mobile smartphone microscope”
    โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. ผลงานเรื่อง “Plant Mineral Crystal”
    โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ผลงานเรื่อง “Tractor-Mounted Sugarcane Harvester with Leaf Pruning”
    โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา แห่ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณ ทหารลาดกระบัง

สำหรับในส่วนของ อพวช. ได้นำผลงานนิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสื่อสัมผัส กิจกรรมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ กิจกรรม Maker Challenge กิจกรรม Game & Toy และ สดร. นำผลงานนิทรรศการระบบสุริยะ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ กล้องดูดาวประเภทต่าง ๆ อุกกาบาตจากประเทศอาเจนติน่า และเกมส์ดาราศาสตร์ มาร่วมจัดกิจกรรม

กิจกรรมต่างๆในพื้นที่ Thailand Pavilion ณ 1st NATIONAL STI DAY ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการจากผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาศาตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกัมพูชา พร้อมด้วยเยาวชนและผู้เข้าเยี่ยมชมงานอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ