ม.มหิดลแนะแนวทางลดปัญหาเลี้ยงสัตว์ในสังคมแนวตั้ง

ม.มหิดลแนะแนวทางลดปัญหาเลี้ยงสัตว์ในสังคมแนวตั้ง

ธุรกิจ “คอนโดเลี้ยงสัตว์” นับวันยิ่งเติบโตไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่นิยมใช้ชีวิตในแนวตั้งเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด

อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร และอาจารย์สัตวแพทย์ประจำกลุ่มวิชาโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย ภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในเมืองโดยผู้สูงวัย จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงนอกเมือง

ทั้งนี้อาจเนื่องจากลักษณะของสังคมเมือง ที่ทำให้ผู้สูงวัยมีปฏิสัมพันธ์กับคนได้อย่างจำกัด จึงส่งผลให้มีเวลาในการเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น

แม้การเลี้ยงสัตว์ใน “ระบบปิด” จะช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้ต้องออกไปสัมผัสกับ “โรค” ภายนอก รวมทั้งยังป้องกันการบาดเจ็บจากการจู่โจมโดยสัตว์เร่ร่อน และอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ยังพบข้อเสียเปรียบในเรื่องการออกกำลังกายซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่จำกัด

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม ยังได้ให้มุมมองต่อคอนโดเลี้ยงสัตว์ว่า แม้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเข้ามาอยู่อาศัยด้วยได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญของการอยู่ร่วมกันของทั้งคนและสัตว์ซึ่งมีรายละเอียดของความต้องการในการใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันด้วย

โดย “แมว” เป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่ในแนวตั้งโดยธรรมชาติ ดังนั้นการเลี้ยงแมวในคอนโดจำเป็นต้องจัดให้มีพื้นที่ต่างระดับให้แมวได้ปีนป่าย นอกจากนี้ควรหาของเล่นเพื่อทดแทนธรรมชาติของแมวที่ต้องออกตระเวนและล่าเหยื่อในขณะที่ สิ่งสำคัญประการหนึ่งซึ่งจะต้องคำนึงถึงก่อนนำ”สุนัข” เข้ามาเลี้ยงในคอนโด คือ สายพันธุ์ที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปขณะโตเต็มวัย เนื่องจากคอนโดมีพื้นที่จำกัด

และเพื่อสุขอนามัยที่ดีระหว่างคนและสัตว์ ควรจัดบริเวณขับถ่ายพร้อมอุปกรณ์ชำระไว้ให้โดยเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยงนอกจากนี้ควรระมัดระวังเรื่อง “เสียงเห่ารบกวน” ของสุนัขที่อาจสร้างความรำคาญต่อเพื่อนบ้านได้

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่อาจเกิดขึ้นตามมา จึงควรมีการสร้างและทำความเข้าใจใน “กฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน” โดยอาจจัดตั้งขึ้นเป็น “คอมมูนิตี้ออนไลน์” เพื่อให้ผู้เลี้ยงสัตว์ได้มีโอกาสในการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น เพื่อลดปัญหากระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์ในสังคมแนวตั้ง

นอกจากนี้เพื่อสุขภาวะที่ดีระหว่างคนและสัตว์ควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ