ม.มหิดลมุ่งวิจัยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ‘ปลดกับดักทางความคิด’ สู่การพึ่งพาตนเอง

ม.มหิดลมุ่งวิจัยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ‘ปลดกับดักทางความคิด’ สู่การพึ่งพาตนเอง

ไม่เพียงนักสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะมาเปลี่ยนโลกให้เป็นสีเขียว แต่ด้วยกระบวนทางสังคมศาสตร์จะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนจากการทำให้คนในสังคมร่วมมือกันก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ที่จะมาทำร้ายโลกต่อไปในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ร้อยละ 35 ของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น มาจาก “อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร” ซึ่งมีเบื้องหลังมาจากการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชโดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังรวมถึง “การเดินทางของอาหาร” ที่นอกจากจะทำให้เกิด “ภาระค่าใช้จ่าย” ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการ “สิ้นเปลือง” จากที่ต้องเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการเก็บรักษาอาหารที่ยิ่งจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่โลกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อาทิ จากกระบวนการผลิตอาหารแช่แข็ง เป็นต้น

จึงกลายเป็นโจทย์วิจัยเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนสำหรับโลกในอนาคตที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ร่วมวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ ในโครงการวิจัยระดับโลก “Feast Project” ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่มีบทบาทในระดับโลกจนสิ้นสุดโครงการ

ในเวลาต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ประเทศทั่วโลกร่วมประพันธ์บทความที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ในการขับเคลื่อน “Post-growth” ซึ่งเป็นแนวคิดในยุคหลังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างกิจกรรมตามแนวคิด “Post-growth” ที่กำลังขยายผลไปทั่วโลก คือ ระบบเกษตรกรรมที่สนับสนุนโดยชุมชนCommunity Supported Agriculture – CSA โดยเกษตรกรมีหน้าที่ปลูกผักและส่งให้ผู้บริโภคผ่านระบบสมาชิกที่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้มีช่องทางการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น จากการมีผู้รับซื้อที่แน่นอน

นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้กระบวนการทางสังคมศาสตร์ที่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน อาทิด้วยการเปิดเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการรับผิดชอบดูแลซึ่งกันและกันในชุมชน เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยได้มีการริเริ่มดำเนินตามแนวคิด”Post-growth” กันบ้างแล้ว “ตลาดสุขใจ” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ตอกย้ำให้เห็นพลังจากการรวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่มาร่วมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งจำหน่ายทั้งในเขตชุมชนและเขตเมืองจนเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย

ซึ่งผู้วิจัยตั้งใจจะขยายผลแนวคิด “Post-growth” ในการวิจัยเรื่องต่อไป โดยเน้นไปที่ช่องทางร้านอาหารอินทรีย์ว่าจะมีกลยุทธ์และมีโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารสุขภาพมายกระดับคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี และปลอดภัยจากสารเคมีได้มากขึ้นต่อไปในวงกว้าง

และจากประสบการณ์ทำงานวิจัยในระดับโลกทำให้ผู้วิจัยได้ฝากแง่คิดทิ้งท้ายถึงสาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่อาจเข้าถึงแนวคิด “Post-growth” ได้เท่าที่ควร เหมือนอย่างบางประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเพราะส่วนใหญ่ยังคงติด “กับดักทางความคิด” ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้วผู้บริโภคคือพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คิด เช่นการมีสภาพลเมืองอาหารเพื่อเชื่อมต่อผู้คนให้มาแก้ไขปัญหาในระบบอาหารร่วมกัน

ซึ่งหากยังคงไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติให้หันมาพึ่งพาตนเองเพื่อความยั่งยืน ก็อาจยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างครบวงจรได้ในที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ